27 กันยายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑๐

"..บุคคลที่นับได้ว่ามีสิ่งต่างๆมากกว่าผู้อื่น สมควรที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือแบ่งปันแก่ผู้ไม่มีอย่างพอเหมาะพอสม และตนเองไม่เดือดร้อน ส่วนผู้ที่ไม่มีก็ควรพยายาม ไม่ควรรอคอยแต่ความช่วยเหลือ หรือ คิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ หากช่วยเหลือกันดังนี้แล้วบ้านเมืองก็จะสงบสุข.."

พระราชดำรัส เนื่องในวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำองคมนตรีและภริยาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์
ณ ห้องประชุมชั้น ๑๔ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓

พระองค์ท่านทรงเตือนสติให้ บุคคลที่มีสิ่งต่างๆมากกว่าคนอื่น รู้จักที่จะเอื้อเฟื้อและแบ่งปัน หรือให้ แก่ผู้อื่น โดยเน้นความพอเหมาะพอควร ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะขาดหายไปในสังคมไทยในยุคบริโภคนิยม จนทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำขยายกว้างขึ้นทุกทีจนกลายเป็นชนวนที่นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมของไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนคนที่ไม่มีก็ควรพยายามขวนขวายดิ้นรนแสวงหามากกว่าจะรอคอยแต่ความช่วยเหลือ หรือเอาแต่ฟูมฟายคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ

การตั้งตัวเองยึดมั่นแต่ในสิ่งที่มีหรืออยากมีนั้นคือ ความโลภ หาใช่ความสุขที่แท้จริงไม่ เพราะคิดแต่อยากจะมีให้มากๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ย่อมต้องเบียดเบียนผู้อื่น และกลัวว่าจะสูญเสียในสิ่งที่ตนเองกำลังมีอยู่ ความสุขที่แท้จริงนั้นเกิดจากการให้ การแบ่งปัน การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนหรือไม่มีโอกาส เมื่อทำได้อย่างนี้สังคมก็จะเกิดความสมดุลและสงบสุขสืบไป

25 กันยายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๙

"ทุกคนมีจิตใจที่ปรารถนาความสุข หรือความสำเร็จ แต่การหาความสุข หรือความสำเร็จนี้ ย่อมต้องเหนื่อย เหนื่อยแน่ ไม่มีใครที่มีความสุขหรือความสำเร็จได้โดยไม่เหนื่อย ถ้าไม่อยากที่จะเหนื่อยก็ต้องฝึกฝนกำลัง กำลังกายก็ต้องฝึก คนที่นอนอยู่เฉยๆ แม้จะสมมติว่านอนอยู่เฉยๆ ไม่ได้เดิน ไม่ได้ไปไหนเป็นเวลาสัก ๑๐ วัน รับรองได้ว่าเวลาลุกขึ้นไม่มีกำลัง คือกำลังไม่ได้มาจากการพักผ่อน กำลังมาจากความเพียร การฝึก เช่นคนที่ได้ออกกำลังลุกขึ้นเดินทุกวัน ขยับกายให้ได้เป็นการฝึกกาย ย่อมมีกำลังกาย ผู้ที่เป็นนักกีฬาเขาต้องฝึก การฝึกนั้นเหนื่อย เหนื่อยแต่ว่าเมื่อเหนื่อยแล้วสร้างกำลังขึ้นมามันค่อยๆ หายเหนื่อย ถ้าสมมติว่าเราไม่ได้สร้างกำลัง เราไม่ได้ฝึกกายให้มีกำลัง เดินเพียง ๕๐ เมตรก็เหนื่อยแล้ว แต่ถ้าฝึกร่างกายให้ดี เดินหลายกิโลเมตรก็ไม่สู้จะเหนื่อยนัก จิตใจก็เหมือนกันจะต้องมีกำลัง และกำลังนั้นเพื่อหาความสุข ความสำเร็จ ไม่ใช่ว่าไม่เหนื่อย ต้องเหนื่อย ต้องฝึกจิตใจให้ดี ถ้าฝึกจิตใจให้ดี ไม่ให้ขี้เกียจ ให้รู้จักว่างานเป็นอย่างไร แล้วก็เชื่อว่าถ้าทำงานอย่างนั้นก็จะได้ผลดี เป็นต้น ก็จะทำให้มีความสำเร็จ ร่างกายและจิตใจจะแข็งแรงพร้อมกัน"

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา
ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา
วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๒๓

23 กันยายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๘

"..ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาที่ยกย่องกันทั่วไปว่า ประกอบด้วยคำสอนอันสมบูรณ์ครบถ้วน ทั้งส่วนที่เป็นบทบัญญัติทางศาสนาแท้ๆ และส่วนที่เป็นบทบัญญัติทางระเบียบสังคม ซึ่งเอื้ออำนวยให้อิสลามิกชนสามารถครองตนอยู่ได้ในความสุจริต และครองชีวิตอยู่ร่วมกันได้โดยผาสุกมั่นคง..."

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้นำศาสนาอิสลาม จังหวัดชายแดนภาคใต้
ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ๒๓ กันยายน ๒๕๒๙


มัสยิดของพระเจ้าแผ่นดิน
เดิมผมอยู่อำเภอเมือง เพชรบุรี ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านห้วยทรายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ มาซื้อที่ทำไร่ สมัยนั้นต้องไม่ลืมว่าเป็นป่า เป็นป่าใหญ่ เรียกว่าผู้คนยังไม่มี เรามาบุกเบิก มีพวกที่เขามาก่อนประมาณ  10 กว่าครอบครัว ถามพวกเพื่อนที่มาก่อนว่า "ได้ทำกิจกรรมละหมาดวันศุกร์บ้างหรือเปล่า"  "ไม่ได้ทำกันเลย 3 ปีแล้ว" คือคำตอบที่ได้รับ ผมก็บอกว่า "ต้องทำนะ"  พวกเพื่อนบ้านเลยถามว่า "จะเอาที่ตรงไหนทำมัสยิดล่ะ" "เอาที่ของข้านี่แหละ" ผมมอบที่ให้ ๒ ไร่ เป็นสุสานที่ฝังกลบ ๑ ไร่ เป็นมัสยิด ๑ ไร่ ก็เริ่มเรี่ยไรเงินกันสร้างมัสยิด

ทางจุฬาราชมนตรี ก็มีหนังสือมาว่าให้จดทะเบียนซะ เราจดไม่ได้ เพราะเราสร้างตรงนี้ เราซื้อที่ไม่มีหลักฐาน โฉนดอะไรก็ไม่มี หลักฐานที่ดินไม่มี  ก็จดทะเบียนไม่ได้ ก็เลยไปหาคุณดนัยหัวหน้าทรัพย์สิน คุณดนัยบอกว่า "ลุงมันไม่ได้หรอก เป็นที่อภัยทานสัตว์ของรัชกาลที่ ๖  เขา ถ้าลุงจะเอาให้ได้ ลุงก็ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ขอเอาสิ" อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จมาที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก ผมก็ชวนอิหม่ามไปเป็นเพื่อน จะไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ก็ไป เมื่อได้เข้าเฝ้าก็บอกว่า "ขอเชิญท่านมาที่มัสยิดหน่อย" ท่านบอกว่า "อีก ๓ วันนะตอนนี้มันบ่ายแล้ว"

อีก ๓ วันท่านมาปล่อยปลาที่เขื่อน ท่านก็มา ท่านมา มากับพระราชินี ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรเหมาะสมให้ท่านประทับ ก็เลยเอาธรรมาสน์ให้ท่านประทับ พระราชินีก็มีเก้าอี้อยู่ตัวหนึ่งก็เอามาตั้งตรงข้างๆ ให้พระราชินีประทับ ท่านก็งงว่า "ลุงซบเชิญมาเพื่ออะไรหรือ" ผมตอบว่า "ข้าพเจ้าสร้างมัสยิดแห่งนี้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าเป็นที่ทรัพย์สิน ฉะนั้นทางจุฬาราชมนตรีจดหมายมาให้ไปจดทะเบียนมัสยิด จึงไม่สามารถไปทำได้ ข้าพเจ้าจึงเชิญท่านมาเพื่อขอที่ตรงนี้ให้เป็นมัสยิดได้ แล้วขอหลักฐานด้วย"

ท่านก็เรียก ดร สุเมธเข้ามา "จงทำที่ผืนนี้ให้มีหลักฐาน ให้จดทะเบียนมัสยิดให้ได้" รับสั่งกับดร สุเมธ
ในคราวนั้นท่านหันมาถามผมว่า "ที่ตรงนี้ใครครอบครอง" 
ผมก็ตอบว่า "ข้าพเจ้าครอบครอง"
ท่านถามว่า "แล้วทำไว้เท่าไร"
ผมตอบตอบว่า "๒ ไร่ เป็นมัสยิด ๑ ไร่ และเป็นสุสานที่ฝัง ๑ ไร่"ท่านก็บอกว่า "เอาอย่างนี้นะฉันให้อีก  ๕ ไร่ เป็นที่ ๗ ไร่"ผมก็ร้องไห้เลย ด้วยความดีใจ ร้องไห้เลย... ด้วยความดีใจ...
มัสยิดจดทะเบียนได้ แล้วยังได้รับพระราชทานที่อีกด้วย

อยู่มามัสยิดของเรามันคับแคบ คนอพยพกันมาเรื่อย จึงได้มีการสร้างมัสยิดใหม่ขึ้นมาทดแทนมัสยิดเดิมที่คับแคบ พระเจ้าแผ่นดินท่านได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมในการก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ด้วย
ทุกๆชุมชนมุสลิมชื่นชมว่ามัสยิดเราเป็น "มัสยิดของพระเจ้าแผ่นดิน" ท่านได้ให้ไว้แก่เรา  ท่านมีความกรุณากับพวกผมมาก พระคุณของท่านมากเหลือเกิน ท่านให้ที่ดินทำกิน ให้บ้าน ท่านให้ทุกๆอย่าง ให้สารพัด ไม่ใช่ให้ผมคนเดียว ให้กับทุกคนในชุมชนเรานี่แหละ

ขอให้พระองค์ท่านอายุยืนนาน ให้พ้นจากโรคาพยาธิ ให้ท่านอยู่สุขเป็นมิ่งขวัญของประชาชนคนไทยเราทั้งประเทศตลอดไป..


**ข้อมูลจาก
http://www.mylifewithhismajestytheking.com/readerpage.cfm?Openid=26F5E8B9-A2EC-4452-878E-3C55D089F9A9

20 กันยายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๗

"...ในประเทศไทยนี้ถ้าดูจากสถิติก็มีพลเมืองเพิ่มขึ้นทุก ๆ วันจึงสันนิฐานได้ว่าพลเมืองของประเทศไทยนี้อยู่ในวัยเรียนอยู่ เป็นส่วนมากทุก ๆ ปี การที่ส่วนรวมคือประชาชนทั้งประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นสิ่งที่ดีแล้ว จึงต้องช่วยกันจัดการให้เยาวชน ให้ประชาชนที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี เราจะไปอาศัยรัฐบาลหรืออาศัยทางราชการที่จะช่วยให้บ้านเมืองมีความเจริญด้านเดียวไม่ได้ เพราะว่าในสมัยนี้ถือว่าเป็นสมัยประชาธิปไตย ทุกคนมีส่วนในงานของประเทศชาติ.."

พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒


ข้อควรคิด
ปัจจุบันการศึกษาของไทยยังถือได้ว่ามีคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน การศึกษาชั้นดีต้องลงทุนสูงจนกลายเป็นธุรกิจมากกว่าการให้ปัญญาคนจริง เราถูกออกแบบให้เรียนอะไรมากมายแต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง หนำซ้ำต้องไปเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมเพื่อแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย จนดูเหมือนว่าเค้าสร้างอาณาจักรธุรกิจเพื่อทำมาหากินระดับหมื่นๆ ล้าน ไม่มีทางที่คนจนหรือ "ลูกไพร่" จะมีโอกาสได้เข้าถึง พอคนไม่ได้รับการศึกษาดีๆ คนก็ไม่มีปัญญา พอโตมาก็ต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์จากนักการเมืองและเป็นเครื่องมือในการเข้ามาสู่อำนาจเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ผ่านโครงการต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่น นักประชาธิปไตยทั้งหลาย เราจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไรดีโปรดชี้แนะด้วย

สำหรับผู้เขียนแล้ว
๑) เรื่องงบประมาณ เราต้องกำจัดข้าราชการและนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นโกงกินบ้านเมือง ไม่ว่าพรรคไหน ซึ่งน่าจะได้เงินส่วนนั้นมาบริหารประเทศประมาณแสนล้านเป็นอย่างต่ำ
๒) ให้ท้องถิ่นออกแบบและบริหารจัดการการศึกษาเอง เค้าจะรู้เองว่าควรให้การศึกษากับคนในท้องถิ่นให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ

17 กันยายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖


"..การศึกษาที่สมบูรณ์ครบถ้วนทัั้งส่วนวิชาการและศีลธรรมจรรยานั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นรากฐานและปัจจัยเครื่องส่งเสริมให้บุคคลสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างแท้จริง คือ เมื่อทุกคนมีความรู้พร้อม ทั้งมีศีลธรรมอันดีงาม ย่อมสามารถทำงานหาเลี้ยงชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้โดยสวัสดีและมั่นคงได้ และผู้ที่ตั้งตัวได้มั่นคงเช่นนี้ ย่อมสามารถสร้างฐานะและความเป็นอยู่ดีมีสุขให้แก่ตัวเองและครอบครัวได้ดีขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งกว่านั้นยังสามารถเผื่อแผ่ความดีความเจริญของตัวให้เป็นประโยชน์ถึงส่วนรวมอีกด้วย.."
พระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๔

เราควรต้องมีความสมดุลในตนเองทั้งพื้นฐานความรู้และจิตใจที่ดีงาม ซึ่งความสมดุลของทั้ง ๒ สิ่งนั้นเป็นแบบไม่สมมาตรและสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์นั้นๆ

ข้อควรคิด
แต่เดิมนั้นเมืองไทยเป็นประเทศที่อยู่กันธรรมดา ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ผู้คนไม่เดือดร้อน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เริ่มมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติซึ่งถูกชี้นำจากต่างประเทศ ทำให้เรารับค่านิยมและหลักความคิดแบบตะวันตกมาเป็นเครื่องนำทาง เราจึงเปลี่ยนจากการดำรงชีพด้วยเกษตรพอมีพอกินตามทางสายกลาง มาเป็นการหาเลี้ยงชีพเพื่อความร่ำรวย เราพัฒนาทางวัตถุแต่ไม่ได้พัฒนาคุณธรรมและศีลธรรมของคนในชาติ เราถูกสอนให้ว่าต้องรวยต้องเป็นหนี้ ถึงจะมีความน่าเชื่อถือและการยอมรับ เราเลยคิดว่าการเกษตรไม่ทำให้รวยจึงหันมาทำอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่รากฐานของประเทศและเราเองก็ไม่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเองได้ ผ่านมาถึงวันนี้ก็ ๕๐ กว่าปีแล้ว เรายังคงไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยอะไร หนำซ้ำยังมีแต่หนี้ หนี้และก็หนี้ หมายความว่าเราเดินหลงทางอยู่ใช่หรือไม่? โปรดรับไว้พิจารณา..

16 กันยายน 2554

โครงการแก้มลิง


ช่วงนี้ประเทศเรากำลังประสบกับอุทกภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ หลายคนนึกถึงวิธีแก้ปัญหา และหนึ่งในทางออกของเรานอกจากการสร้างเขื่อนหรือสร้างคันกั้นน้ำคือ การทำแก้มลิง แก้มลิงเป็นโครงการพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๘ ซึ่งทรงพระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ดังนี้

"..ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปลอกเปลือกแล้วเอา เข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปเก็บที่แก้ม จะกินกล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้ง แก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนแล้วจะนำออกมา เคี้ยวและกลืนเข้าไปภายหลัง ด้วยพฤติกรรมการนำเอากล้วยหรือ อาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ จึงเป็นพฤติกรรม ตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง บริเวณทิศตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา.."

วิธีการของโครงการแก้มลิงโดยสรุปคือ
๑. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล
๒. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลอง โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลกตามธรรมชาติ
๓. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
๔. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว

ด้วยพระปรีชาญาณและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์  "โครงการแก้มลิง" จึงเกิดขึ้นกว่า ๑๓๑ โครงการ ช่วยบรรเทาวิกฤตและความเดือดร้อนให้เบาบางลงไปได้ โดยอาศัยเพียงแค่แนวคิดและวิธีการทางธรรมชาติเท่านั้น

15 กันยายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕


"..ข้าพเจ้ายินดีที่ได้ฟังท่านผู้เป็นผู้พิพากษาศาลปกครอง ซึ่งได้ทำการปฏิญาณตนว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อความร่มเย็นของประเทศชาติ การจะปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตนั้นสำคัญ เพราะว่าประชาชนต้องการความซื่อสัตย์สุจริต แล้วก็ถ้ามีผู้ที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตนั้น ก็ทำให้สบายใจ และสามารถที่จะปฏิบัติงานต่างๆ ของประชาชนได้โดยดี ท่านก็จะต้องปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตดังกล่าวนี้ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประเทศชาติ

ท่านมีจำนวนไม่มากนัก แต่ว่าก็นับว่าเป็นจำนวนที่สำคัญ เพราะว่าท่านมีความรู้ ท่านสามารถที่จะแสดงความรู้นี้และทำให้ประชาชนดูผู้ที่ปฏิบัติดีเป็นตัวอย่าง ในเวลาเดียวกัน ท่านก็เป็นตัวอย่างกับผู้ที่ทำหน้าที่ต่อไปด้วย ฉะนั้นที่ท่านได้ปฏิญาณตนเป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องปฏิบัติตามที่ท่านปฏิญาณ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามที่ท่านปฏิญาณ ก็ทำให้คนเขาเสียใจ คนเขาผิดหวัง ถ้าคนผิดหวัง เป็นอันตรายมากสำหรับการปกครองประเทศและความเป็นอยู่ของประเทศ ก็ขอให้ท่านได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้ตั้งเอาไว้แก่ตัว เพื่อที่จะให้เป็นตัวอย่าง เพื่อที่จะให้ทุกคนมองว่า มีผู้ปฏิบัติตัวด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นธรรมดา

คำว่าเป็นธรรมดานี้สำคัญ เพราะแสดงว่าท่านทำความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งที่เป็นธรรมดา สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ทำให้ผู้ที่เป็นประชาชนทั่วๆ ไปก็จะได้ทำงานอะไรด้วยความซื่อสัตย์สุจริตถือว่าเป็นหน้าที่เหมือนกัน ก็ขอให้ท่านเข้าใจที่พูดนี้ว่าสำคัญแค่ไหน ถ้าท่านเข้าใจและปฏิบัติ ท่านจะเป็นผู้ที่ได้ช่วยประเทศชาติอย่างดี ได้ทำหน้าที่สำหรับเป็นตัวอย่าง ทำหน้าที่สำหรับเป็นผู้ที่เรียกว่าคนดี แล้วก็ได้ทำหน้าที่ด้วยความดี เพื่อที่จะมีคนที่ดี ท่านมีจำนวนไม่มาก แต่ว่าผู้ที่ได้เห็น ได้ทำตาม มีจำนวนเป็นหลายร้อยหลายพัน เป็นหลายหมื่นแล้วก็ถ้าทุกคนทำตาม ทำหน้าที่ตามวิธีที่ท่านทำนั้น บ้านเมืองก็อยู่รอดได้ไม่มีปัญหา.."


พระราชดำรัสในโอกาสที่ประธานศาลปกครองสูงสุดนำตุลาการศาลปกครองชั้นต้น เข้าเฝ้า ฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันจันทร์ ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๑

14 กันยายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔


"..ความรู้จักอดทนและอดกลั้น ไม่ยอมตัวยอมใจให้วู่วามไปตามเหตุการณ์ตามอคติและอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้น ทำให้เกิดมีการยั้งคิดและธรรมดาคนเราเมื่อยั้งคิดได้แล้วย่อมมีโอกาสที่จะพิจารณาเรื่องที่ทำ คำที่พูด ทบทวนดูใหม่ได้อีกคำรบหนึ่ง การพิจารณาทบทวนเรื่องใดๆใหม่ ย่อมจะช่วยให้มองเห็นละเอียดชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจอันกระจ่างสว่างไสวขึ้น.."

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑๔ กันยายน ๒๕๑๖

10 กันยายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓


"..คนที่มีระเบียบมีวินัยนั้นเป็นผู้ที่เข้มแข็ง เป็นผู้ที่หวังดีต่อตัวเอง เป็นผู้ที่จะมีความสำเร็จในอนาคต อันนี้เป็นระเบียบอย่างหนึ่ง เป็นวินัยอย่างหนึ่ง คือว่าถ้าคนใดมีระเบียบมีวินัยในร่างกาย คือหมายถึงการปฏิบัติของตัวในกิริยามารยาท ทำให้ไม่มีอุปสรรคต่อการขวนขวายหา จะหาความรู้ก็ได้ หาอะไรก็มีความสำเร็จ คือหาสิ่งที่ตัวกำลังมุ่งที่จะปฏิบัติ การปฏิบัติด้วยความมีระเบียบ มีวินัย การปฏิบัตินั้นสำเร็จ อันนี้เป็นระเบียบวินัยชนิดหนึ่ง ระเบียบวินัยอีกชนิดที่กล่าวเมื่อตะกี้ ก็คือระเบียบในใจ ในใจนั้นก็คือการกระทำอะไร เราต้องคิด เมื่อมีระเบียบในความคิด คือมีเหตุผล สิ่งใดที่คิดก็คิดออก..

สมมุติว่าเราคิดเรื่องหนึ่ง แล้วก็ไปคิดถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง แล้วไปคิดถึงเรื่องที่สาม เรื่องที่สี่ เรื่องทั้งสามสี่เรื่องนี้ก็ไม่มีความสำเร็จแน่นอน เพราะว่ามันฟุ้งซ่าน ฉะนั้นต้องมีระเบียบในความคิด ที่เรียกว่าระเบียบในใจหรือวินัยในความคิด.."

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่
พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ จังหวัดสงขลา
ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดสงขลา
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๔

** ข้อมูลจาก คำพ่อสอน ๑๗๘

9 กันยายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒

"..ข้าพเจ้าขอขอบใจนักประดิษฐ์นานาชาติ ที่ได้นำรางวัลมาให้ในวันนี้. เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ท่านมาในคราวนี้ แล้วก็ขอขอบใจที่ท่านสนใจเกี่ยวกับการประดิษฐ์ในโลก. เป็นเรื่องสำคัญที่จะให้มีการประดิษฐ์เป็นของพิเศษขึ้นมา แล้วให้รางวัลกัน เพราะว่าการประดิษฐ์นั้นเป็นของสำคัญที่สุดของโลก ของคนที่สนใจในความก้าวหน้า แล้วถ้าไม่มีความสนใจในการประดิษฐ์ ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้ไม่มีความก้าวหน้า. การประดิษฐ์ในด้านต่าง ๆ เป็นของสำคัญของโลก เพื่อที่จะให้โลกก้าวหน้าได้ เพราะถ้าไม่มีการประดิษฐ์ก็ไม่มีความก้าวหน้า โลกก็ไม่ก้าวหน้า. ก็ขอขอบใจท่านที่สนใจในการนี้ และขอแสดงความยินดีที่ประเทศต่าง ๆ เอาใจใส่ในการก้าวหน้าของโลก.

คนที่มีความสนใจในการประดิษฐ์นั้น มีความสำคัญมาก เพราะว่าแต่ละคนต้องคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ. ถ้าไม่คิดใหม่ๆ โลกก็ไม่มีความก้าวหน้า. ก็ขอขอบใจท่านที่เอาใจใส่ในการนี้ และขอให้ท่านได้สนับสนุนการปฏิบัติที่ก้าวหน้าเช่นนี้ ซึ่งจะทำให้โลกมีความก้าวหน้าได้. ขอให้ท่านสามารถที่จะพัฒนาการปฏิบัติประดิษฐ์ในโลก โดยเฉพาะในประเทศของท่าน ซึ่งจะทำให้ประเทศของท่านก้าวหน้า. ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่เอาใจใส่ในการปฏิบัติการประดิษฐ์ และขอให้ท่านมีความก้าวหน้าในประเทศของท่าน. การนี้ก็ขอให้ประเทศของท่านต่างมีความก้าวหน้า และจะทำให้โลกมีความก้าวหน้า. โลกนั้นจะมีความก้าวหน้าได้ก็โดยที่คนมีความคิดที่ก้าวหน้า. ก็ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่มาในวันนี้และแสดงให้เห็นว่าท่านสนใจในความก้าวหน้าของโลก. ขอให้ประเทศของท่านก้าวหน้าและมีความเจริญรุ่งเรืองทุกประการ. ขอให้มีการพัฒนามากขึ้น มีคนที่มีความคิดก้าวหน้า. ทุกคนจงมีแต่ความเจริญด้วยการก้าวหน้า.."


พระราชดำรัสในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีนำคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี ๒๕๕๒ และวันนักประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ ๒ เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัล "Glory to the Greatest Inventor : His Majesty King Bhumibol Adulyadej in the Year of Creativity & Innovation 2009" ของสหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ (อีเฟีย) สาธารณรัฐฮังการี รางวัล "Special Prize" ของสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ของสาธารณรัฐเกาหลี (คีป้า) และเหรียญทอง "Special Commemorative Gold Medal" ขององค์กรการประดิษฐ์ของสหพันธรัฐรัสเซีย

ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันพุธ ที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๒** ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักราชเลขาธิการ
http://www.ohmpps.go.th/index.php?speed=live&speed2=live

8 กันยายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑

"..การสร้างงานศิลปะทุกอย่างทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดชัดเจนในทางปฏิบัติ ประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว ศิลปินจำต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่มีค่าควรแก่การยอมรับนับถือ.."

พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๑
วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๕

คลิ๊กที่ภาพเพื่อแสดง

7 กันยายน 2554

พออยู่พอกิน


"ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอดแต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้ารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยอดได้ ประเทศต่างๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่กำลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวดทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่าน..ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกับดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล.."

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเมื่อปี ๒๕๑๗

**พระราชอำนาจ หน้า ๑๓๓

6 กันยายน 2554

The King Can Do No Wrong

รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดจะละเมิดพระมหากษัตริย์มิได้ หรือแม้แต่จะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ ก็มิได้ ด้วยพระราชสถานะที่ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ทรงกระทำการใดด้วยพระองค์เอง โดยจะใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา ทางรัฐบาลและทางศาลเป็นผู้กระทำแทนพระองค์ เพราะฉะนั้นผู้รับผิดชอบคือ บุคคลที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งได้แก่นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภา ประธานวุฒิสภาและประธานองคมนตรี

เพราะฉะนั้นแล้วพระมหากษัตริย์จึงมิอาจถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องในกรณีใดๆ ได้ และเป็นไปตามหลักที่ยึดมาแต่โบราณว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong)

ฝากไว้ให้คิดซักนิดนึงว่า ถ้าการบริหารราชการแผ่นดินประสบความสำเร็จ จะเป็นผลงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว แต่ถ้าการบริหารจัดการมีปัญหากลับโบ้ยให้เป็นความผิดของพระองค์ท่าน อย่างนี้ถูกต้องแล้วหรือครับ