30 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๔

"..ผู้ที่มีจิตใจเมตตากรุณา หมายถึงการที่จะมีจิตใจเห็นใจผู้อื่น มีจิตใจที่จะเห็นถึงความเดือดร้อน เราจะต้องช่วยเหลือ จิตใจนี้ก็เป็นจิตใจที่มีกำลังมาก ทั้งอ่อนโยนมาก จิตใจนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้งานการทุกอย่างก้าวหน้าได้ เพราะว่า ถ้าคนที่มีเมตตากรุณาในใจ และเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น หมายความว่าผู้นั้นเป็นคนฉลาด หมายความว่าคนนั้นเป็นคนที่อ่อนโยน ที่เห็นอะไรๆ ได้ชัด เมื่อคนเรามีความอ่อนโยนและมีความละเอียดอ่อน และเห็นอะไรได้ชัดก็ย่อมจะทำงานของตนที่กำลังทำด้วยความก้าวหน้านั้นสำเร็จลุล่วงไปได้.."

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่สมาคมพ่อค้าทราย เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๔

29 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๓

"..ความสามัคคีนั้นอาจหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่เป็นสังคมย่อมต้องมีความแย้งกัน ความคิดต่างกันซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดอง ด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่างๆ ย่อมเป็นประโยชน์ ถ้ามีรากฐานของความคิด อย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้น คือแต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความสุขมีความปึกแผ่น.."

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้า ฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันอังคาที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๗

27 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๒

"..การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทนเสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอน ในความอดทนของตน ในความเพียรของตน ต้องถือว่าวันนี้เราทำยังไม่ได้ผล อย่าไปท้อ บอกว่าวันนี้เราทำแล้วก็ไม่ได้ผล พรุ่งนี้เราจะต้องทำอีก วันนี้เราทำ พรุ่งนี้เราก็ทำ อาทิตย์หน้าเราก็ทำ เดือนหน้าเราก็ทำ ผลอาจได้ปีหน้า หรืออีกสองปีหรือสามปีข้างหน้า.."

กระแสพระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ
วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖

21 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๑


"..ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ์  และห่วงรายได้กันมากเข้าๆ แล้วจะเอาจิตใจที่ไหนมาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็ก  ความห่วงใยในสิ่งเหล่านั้นก็จะค่อยๆ บั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้นจะไม่มีอะไรดีเหลือไว้ พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจหรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่ เคารพบูชาอีกต่อไป.."

พระราชดำรัส  พระราชทานแก่ครูอาวุโส
ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ  พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันเสาร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๑

20 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๐


"..บัณฑิตทั้งหลายคงจะมีความหวังตั้งใจอยู่เต็มเปี่ยม ที่จะออกไปทำการงานด้วยความรู้ ความสามารถ  ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยความพากเพียรเข้มแข็ง เพื่อให้บังเกิดความเจริญก้าวหน้าแก่ชาติบ้านเมือง แต่บางคนก็อาจกำลังคิดอยู่ด้วยว่า ถ้าเราทำดีแล้วคนอื่นเขาไม่ทำด้วยจะมิเสียแรงเปล่าหรือ ความรู้ ความตั้งใจ ความอุตสาหะพากเพียรของเราทั้งหมดจะมีประโยชน์อันใด

ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนทำความเข้าใจเสียใหม่ให้ชัดแจ้ง ตั้งแต่ต้นนี้ว่า การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญ และไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วง หรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะมีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีที่ทำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน และยิ่งทำมากเข้า นานเข้า ยั่งยืนเข้า ผลดีก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น และแผ่ขยายกว้างออกไปทุกที คนที่ไม่เคยทำดีเพราะเขาไม่เคยเห็นผล ก็จะได้เห็น และหันเข้ามาตามอย่าง

หลักประกันสำคัญในการทำดีจึงอยู่ที่ว่า แต่ละคนต้องทำใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวกับสิ่งแวดล้อมที่เห็นอยู่ทราบอยู่มากเกินไป จนเกิดความท้อถอย เมื่อใจมั่นคงแล้ว ก็ขอให้ตั้งอกตั้งใจสร้างนิมิตและค่านิยมใหม่ขึ้นสำหรับตัว ตามที่พิจารณาเห็นดี ด้วยเหตุผลอันถูกต้องเที่ยงตรง แล้วมุ่งหน้าปฏิบัติดำเนินไปให้เต็มกำลังจนบรรลุผลสำเร็จ ในที่สุดความดีความเจริญที่ปรารถนาก็จะเกิดทวีขึ้น และจะเอาชนะความเสื่อมทราม ต่างๆ ได้ไม่นานเกินรอ.."

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ให้ไว้เมื่อ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๑
ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

19 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑๙


"..ถ้าคนเรามีความรู้ก็ย่อมมีความระลึกถึงในความรู้ของตัว ในความก้าวหน้าของตัว และจะสามารถที่จะปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ การสร้างสารานุกรมนี้จึงเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับสังคมเป็นส่วนรวม เพราะว่าบ้านเมืองของเรา ประชากรเกิดเพิ่มขึ้นทุกปี แล้วก็ถ้าให้ความรู้แก่เยาวชนไม่พอ ก็เกิดเรื่อง อย่างที่ปัจจุบันนี้มีปัญหาเยาวชนเกิดขึ้นมาเป็นที่น่าหนักใจอย่างยิ่ง และก็ถ้าทุกคนช่วยกันสร้างความรู้แก่เยาวชนแล้ว ปัญหานี้จะเบาบางลงไปได้.."

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะกรรมการสโมสรไลออนส์ และผู้เข้าแข่งขันกอล์ฟ
วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๔


18 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑๘


"..ภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ การทุ่มเทสร้างเครื่องจักรกลอันก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นใช้ในการผลิตทำให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นรวดเร็วและมากมาย จนอาจถึงขั้นฟุ่มเฟือยพร้อมกันนั้นก็ทำให้คนว่างงานลงเพราะถูกเครื่องจักรกล แย่งไปทำ เป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากตกต่ำทางเศรษฐกิจขึ้นเพราะคนที่ว่างงานยากจนลง และผู้ผลิตก็ขาดทุนเพราะสินค้าขายไม่ออก จึงน่าจะต้องดัดแปลงแนวคิดแนวปฏิบัติ ในการส่งเสริมความเจริญด้านอุตสาหกรรมไปบ้างให้สมดุลกับด้านอื่นๆ เพื่อความอยู่รอด.."

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๘


แนวคิดด้านการบริหารจัดการอุตสาหกรรมโดยยึดหลักความสมดุลตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๑. ไม่มากไม่น้อยเกินไป มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เพียงพอต่อการผลิตตามความต้องการของตลาด
๒. ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในแง่การลงทุนไม่ควรกู้หนี้ยืมสินจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ต้องลดค่าใช้จ่ายจนเกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน
๓. สมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติคือ ไม่ปล่อยมลภาวะเป็นพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจนเกินระดับมาตรฐานความปลอดภัย

16 ตุลาคม 2554

โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เป็นโครงการที่กรมชลประทาน สนองพระราชดำริ ที่พระราชทานเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้ปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ บริเวณคุ้งน้ำช่วงที่ไหลผ่านเขตพื้นที่ ต.บางกระเจ้า จากเดิมที่มีสภาพตื้นเขินมีความกว้างเพียง ๑๐-๑๕ ม.ให้สามารถรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นทางลัดของน้ำไหลลงสู่ทะเลได้สะดวก รวดเร็วขึ้น โดยช่วยลดระยะทางการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาจาก ๑๘ กม.ให้เหลือเพียง ๖๐๐ ม. รวมทั้งลดเวลาการเดินทางของน้ำจาก ๕ ชม.ให้เหลือเพียง ๑๐ นาทีเท่านั้น ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งใน กทม.และปริมณฑล จากสภาวะน้ำเหนือไหลหลากในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการนี้สามารถระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้เฉลี่ยวันละประมาณ ๔๐ ล้าน ลบ.ม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล ๑ ภูมิพล ๒ ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓

"..ที่อยู่ที่นี่สังเกตได้ว่าแม่น้ำเจ้าพระยา รับน้ำได้มาก โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ใกล้ๆ แถวนี้ ให้ผ่านทางประตูน้ำ ก็ได้ผล เพราะว่าเห็นน้ำสูง เห็นได้ชัดว่าเวลาฝนตกหนักน้ำสูงขึ้นมาก แต่ฝนหยุดเมื่อไหร่สามารถลด เพราะว่าลงไปทางประตูน้ำที่ผ่านลงทะเล เป็นโครงการที่เห็นได้ชัดว่าทำได้ ให้ลงทะเลโดยเร็ว เพราะว่าตรงที่ผ่านลัดโพธิ์ ระยะเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ส่วนทางที่จะไปทางยาวนั้นก็ส่งผ่านหลายกิโลเมตร ๑๖-๑๗ กิโลเมตร ได้เห็นโครงการอะไรที่ทำได้ ซึ่งใช้งานมาเมื่อไม่นานนี้ หลายปีมาแล้วที่มีการทำโครงการนี้ ก็เพิ่งได้ผลขึ้นมา น้ำมันลดลงไปจริงๆ ถ้าพัฒนาวิธีการนี้เพิ่มขึ้น ให้ลงทะเล แล้วชาวบ้านก็รู้แล้ว ชาวบ้านได้เห็นประสิทธิภาพของคลองลัดโพธิ์ อย่างมหัศจรรย์จริงๆ เห็นได้ชัด เพราะว่าหลังจากข้างบนนี้มองลงไปเห็นว่า ตอนเช้าน้ำขึ้น น้ำเต็มแม่น้ำ แต่เวลาปล่อยที่คลองลัดโพธิ์ มันลดลงไป เวลาฝนหยุดน้ำก็ลด อันนี้ก็มีอยู่ต่อหน้าต่อตา.."

พระราชดำรัสแก่นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการกรมชลประทาน
ในโอกาสกราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินเงินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔





15 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑๗


"..มนุษย์เป็นแต่เพียงสัตว์ที่สอนได้ ต่อเมื่อได้รับการศึกษาอบรม ประกอบกับขวนขวายหาความรู้รอบตัว อย่างเนืองนิจ และใช้ความฉลาดของตนนำความรู้นั้นมาพินิจพิจารณาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร จึงจะเข้าใจ หลักเกณฑ์ว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีสติ มีปัญญา.."

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรผดุงครรภ์
ณ หอประชุมราชแพทยาลัย วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๓


กำหนดจิตตัวเอง >> ทำความเข้าใจปัญหา >> เรียนรู้ความจริง >> เกิดปัญญา >> นำไปสู่การแก้ปัญหา

14 ตุลาคม 2554

จงกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง

พระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ ความตอนหนึ่งว่า..

ที่จะเล่าให้ฟังคือเรื่องโครงการเมื่อ ๔ ปี ที่ได้สร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ที่อยุธยา ในแผนการมีอนุสาวรีย์ มีแท่น แล้วก็มีช้าง สมเด็จพระสุริโยทัยประทับบนช้าง และนอกจากนั้นก็มีเขตที่เป็นสวน ที่ปลูกต้นไม้ ที่มีอาคารสำหรับเป็นที่แสดงศิลปาชีพ มีที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาชมวิว และก็มีอ่างน้ำ ผู้วางผังเขาบอกว่าถ้ามีอ่างน้ำก็จะสวยงาม เมื่อได้รับทราบแล้วก็ดูแผน ในที่ ๒๕๐ ไร่นั้น เขาทำเป็นสระน้ำกว้าง ประมาณ ๕๐ ไร่ ตกลงที่ดินที่เป็นอนุสาวรีย์กับสวน เป็นที่ ๒๐๐ ไร่ และมีสระน้ำ ๕๐ ไร่ รวมเป็น ๒๕๐ ไร่ เมื่อเห็นอย่างนั้นก็ไม่ค่อยจะพอใจนัก แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร ในที่สุดก็กล้า คือต้องกล้า กล้าบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ความหมายของอนุสาวรีย์นี้หรือไม่ใช่แผนที่อยากจะให้ทำ อยากจะให้มีที่ที่เป็นน้ำ ให้สระน้ำนั้น ใหญ่กว่าครึ่งของบริเวณ  ในที่สุดผู้ที่วางแผนก็ยอม

เหตุผลที่ทำอย่างนี้ เพราะว่าในอนาคตอาจจะมี ที่จริงก็มีน้ำท่วมทุกปี และถ้ามีน้ำท่วม น้ำจะลงไปท่วมบ้านเมือง โดยเฉพาะอยุธยาลงมาถึงปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และลงไปทางสมุทรปราการ ถ้าหากเราทำอ่างกักน้ำ จะเรียกว่าอ่างเก็บน้ำก็ได้ แต่เป็นสระที่ใหญ่พอ เราสามารถที่จะกักน้ำเอาไว้ ซึ่งจะบรรเทาความเดือดร้อนของการที่มีน้ำท่วม และต่อไปเมื่อน้ำแห้งแล้ว น้ำที่เราเก็บกักเอาไว้ในสระนั้น จะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรที่อยู่ใกล้เคียง

จึงได้ปฏิบัติเช่นนั้น เขาจึงได้สร้างสระนั้นให้โตขึ้น มีพื้นที่ถึง ๑๕๗ ไร่ ก็นับว่าดีกว่าที่คิดไว้เดิม ว่าขอเอาอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง (๑๒๕ ไร่)

ในที่สุดปีนี้น้ำก็ท่วมและเกิดระลึกขึ้นมาได้ ว่ามีโครงการนี้อยู่ จึงให้คนไปถ่ายรูป มีหลายฝ่ายทั้งทางภาคพื้นดิน ทั้งทางอากาศ ในรูปได้เห็นว่ามีการสูบน้ำ ปลายหนึ่งของท่อจุ่มอยู่ในสระ และดูดน้ำออกจากสระ น้ำในสระนั้น มีระดับวัดได้ ๓ เมตร ๕๐ เซนติเมตร แต่เมื่อดูแล้ว ข้างนอก น้ำขึ้นสูงไปมากกว่านั้น จึงบอกให้ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งหยุดสูบน้ำออกไป และถ้าอย่างไรให้เปิดประตูน้ำที่เป็นท่อ และช่องที่เปิดน้ำให้เข้า-ออกได้ ให้น้ำเข้ามา น้ำก็ค่อยๆ เข้ามาเอื่อยๆ น้ำจึงขึ้นมาหน่อย แต่ว่าเข้ามาช้ามาก เขารายงานมาทางวิทยุว่า ข้างในน้ำสูงเท่านั้นๆ ข้างนอกสูงเท่านั้นๆ ก็ปรากฏว่าน้ำขึ้นจริงๆ ที่หลักวัดระดับน้ำนั้นจาก ๓ เมตร ๕๐ ขึ้นมาเป็น ๓ เมตร ๘๐ เขาก็ถามมาว่าพอหรือยัง เราก็เลยต้องถามว่า ข้างนอกสูงเท่าไหร่ เขาก็บอกว่าไม่ทราบ เราเลยถามว่า ข้างนอกสูงหรือต่ำกว่าคันรอบอนุสาวรีย์นั้นและเท่าไหร่ เขาก็บอกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร หรือ ๓๐ เซนติเมตร จำไม่ได้แล้ว และเราถามว่าข้างในเท่าไหร่

เขาบอกห่างประมาณเมตรกว่า ก็เลยบอกว่า ให้ฟันคัน ให้ใช้รถตักที่เขาเรียกว่า แบ็คโฮ ตักคันที่กั้นน้ำนั้นให้น้ำเข้ามา ผู้ว่าราชการจังหวัดก็บอกว่า “ผมทำไม่ได้ ผมคอขาดถ้าทำ” ผู้ที่ไปก็บอกว่า “คุณต้องทำ ถ้าไม่ทำผมเองคอขาดก็ไม่ทราบว่าคอของใครมีราคามากกว่ากัน ในที่สุดก็เข้าใจว่าผู้ว่าราชการจังหวัดยอมคอขาด แต่ที่จริงคอไม่ขาด เพราะว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยาเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริต และได้ช่วยทุกอย่างให้พระนครศรีอยุธยามีความเจริญ เป็นอันว่า เอารถแบ็คโฮ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมาตักและขุดคัน น้ำก็เข้ามาแต่เข้ามาไม่ทันใจ เลยขุดอีกหลายแห่ง และในเวลาเดียวกันก็วัดระดับน้ำ ปรากฏว่าระดับน้ำทางด้านตะวันออกคือ น้ำที่มาจากแม่น้ำป่าสักสูงกว่าด้านที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ความรู้นี้ ไม่มีใครเคยรู้ว่า น้ำที่อยู่ในทุ่งด้านป่าสักมีความสูงกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และความรู้นี้ทำให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งกรมชลประทานเกิดความรู้ว่า น้ำท่วมกรุงเทพฯ มาจากไหน และไปไหน

ในที่สุดน้ำข้างในก็ขึ้น ข้างในสระระดับน้ำต่ำกว่ายอดคันประมาณ  ๕๐ เซนติเมตร ด้านนอก (ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา) เหลือถึงยอดคัน ๕๐ เซนติเมตรเช่นเดียวกัน ส่วนด้านแม่น้ำป่าสักปรากฏว่าเหลือถึงคันประมาณ ๒๐ เซนติเมตรเท่านั้น ก็หมายความว่าข้างนอกกับข้างในยังไม่เท่ากัน ก็บอกให้ทำต่อไปจนกระทั่งน้ำข้างนอกกับน้ำข้างในเท่ากัน และวัดดูโดยต่อจากมาตรวัดน้ำ ซึ่งทีแรกสูง ๔ เมตร ต่อขึ้นมา ๕ เมตร ก็ท่วม ๕ เมตร จนกระทั่งขึ้นมาถึง ๕ เมตร กับ ๗๐ เซนติเมตร เป็นอันว่า น้ำที่เข้ามาในบริเวณนั้นจากเดิม ๓ เมตร ๕๐ ขึ้นมาเป็น ๕ เมตร ๗๐ และน้ำในสระนั้น แทนที่จะมีประมาณห้าแสน ก็ขึ้นมาเกือบสองล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อถึงขนาดนั้นแล้ว จึงสั่งให้ปิดได้ ให้ปิดเพื่อที่จะเก็บน้ำนี้ไว้ข้างใน วันรุ่งขึ้นไปวัดน้ำที่ในทุ่ง ปรากฏว่าลดลงไป ๔ เซนติเมตร ทำให้ราษฎรเห็นว่า อนุสาวรีย์นี้ทำประโยชน์ และสมเด็จพระสุริโยทัยนี้เป็นวีรสตรีในอดีต กลับมาเป็นวีรสตรีในปัจจุบันด้วย ฉะนั้นโครงการนี้ก็ได้ผลเต็มที่..

13 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑๖

"..โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นหลักสำคัญสำหรับบ้านเมือง เพราะประชาราษฎร์จักได้อาศัยเป็นที่พึ่ง ในยามมีทุกข์ร้อน บุคคลที่จะให้ผู้อื่นเข้าพึ่งพาอาศัยได้ จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาดี มีวิชาการ และเป็นผู้มีศีลธรรมอันดีทุกประการ.."

พระราชดำรัส เนื่องในวโรกาสเปิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน
เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

11 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑๕

"..งานด้านการศึกษาศิลปและวัฒนธรรมนั้น คืองานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจซึ่งเป็นต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่นๆทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้
เรารักษา และดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป.."

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร 
๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๓

ตัวอย่างการน้อมเอากระแสพระราชดำรัสมาประยุกต์ใช้งานศิลปะและการออกแบบเพื่อการพัฒนา หนึ่งในนั้นคือแบบแปลน "บ้านลอยน้ำ" ของสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานให้ประชาชนได้ใช้ฟรี โดยหลักการคือ ในฤดูแล้งตัวบ้านจะตั้งอยู่บนพื้นดินตามปกติ แต่เมื่อมีน้ำท่วมก็จะลอยขึ้นตามระดับน้ำได้ โดยจะมีการยึดตัวบ้านไว้กับเสาหลักทั้งสี่มุม เพื่อป้องกันการโคลงตัว หรือ ลอยไปตามกระแสน้ำ และเมื่อระดับน้ำลดลงตัวบ้านก็จะกลับมาตั้งอยู่บนพื้นดินตามเดิม บ้านลอยน้ำนี้จะเหมาะกับพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซากแต่กระแสน้ำไม่เชี่ยวกราก

ขนาดพื้นที่ ประมาณ ๖๐ ตารางเมตรประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัย ๒๓ ตารางเมตร ที่เหลือเป็นส่วนทำอาหารห้องน้ำและซักล้าง รวม ๓๗ ตารางเมตร

ราคาค่าก่อสร้างโดยประมาณ ๗๑๙,๐๐๐ บาท (กรณีปลูกสร้างเอง) ไม่ต้องใช้ผู้รับจ้างเหมาและประมาณ ๙๑๕,๐๐๐ บาท (กรณีมีผู้รับจ้างเหมา)

วัสดุก่อสร้างใช้วัสดุก่อสร้างพื้นฐานทั่วไปที่สามารถหาได้ง่ายในท้องตลาด ซึ่งสามารถดัดแปลงได้ตามความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ทุ่นลอยเป็นถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตร หรือถังไฟเบอร์กลาสกรณีต้องการความทนทานเพิ่มขึ้น

ระบบสุขาภิบาล ใช้ระบบการย่อยสลายโดยมีถังบรรจุจุลินทรีย์ EM ติดตั้งอยู่ใต้ห้องน้ำเพื่อย่อยสลายและเร่งการตกตะกอนของสิ่งปฎิกูล


8 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑๔


 "..ท่านต้องห้ามไม่ให้มีการทุจริตขึ้น แล้วท่านจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอที่มีประสิทธิภาพ ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่ง แช่งให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไป ย้ำอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้ว่า ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่ง แช่งให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริตและมีความตั้งใจ มุ่งมั่น สร้างความเจริญ ก็ขอต่ออายุให้ถึง ๑๐๐ ปี ใครมีอายุมากอยู่แล้วก็ขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตราย ภายใน ๑๐ ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญต้องยึดความสุจริตให้สำเร็จและไม่ทุจริตเสียเอง.."

นี่คือพระราชดำรัสพระองค์ที่จะมีผลอย่างยิ่งต่อการทุจริตในทุกลักษณะ เพราะถือเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงสาปแช่งผู้ทุจริตให้เป็นที่ปรากฏต่อผู้คนทั้งแผ่นดิน เราในฐานะคนไทยที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริยาธิราชมาแต่บรรพบุรุษจะต้องไม่ลืมคตินิยมที่ว่า พระมหากษัตริย์คือสมมติเทพ มีพระวาจาเป็นสัตย์และเป็นสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม  เยี่ยงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันพระองค์นี้

พระราชดำรัสทรงรับสั่งแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ซีอีโอ เมื่อวันพุธที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๖
ขอขอบคุณเวบภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตของชาติ

5 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑๓


เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการแกล้งดินอย่างเป็นทางการ

"..โครงการแกล้งดินนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่พูดมา ๓ ปีแล้ว หรือ ๔ ปีกว่าแล้ว ต้องการน้ำสำหรับมาให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ แล้วก็มาทำที่นี่แล้ว มันได้ผล ดังนั้น ผลงานของเราที่ทำที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดู เราทำอย่างนี้แล้วเขาก็พอใจ เขามีปัญหา แล้วเขาก็ไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้.."

"..โครงการปรับปรุงดินเปรี้ยวควรดำเนินการต่อไปในแง่ของการศึกษาทดลอง และการขยายผลการทดลองต้องดูอย่างนี้ ทิ้งดินเอาไว้ปีหนึ่งแล้วจะกลับเปลี่ยนหรือเปล่า เพราะว่าความเปรี้ยวมันเป็นชั้นดิน ดินที่เป็นซัลเฟอร์ แล้วก็ถ้าเราเปิดให้มีน้ำ อากาศลงไป ให้เป็นซัลเฟอร์ออกไซด์ ซึ่งซัลเฟอร์ออกไซด์เอาน้ำเข้าไปอีกทีไปละลายซัลเฟอร์ออกไซด์ก็กลายเป็นใส่ออกไซด์ลงไป ก็เป็นกรดซัลฟุริก แต่ถ้าสมมุติว่าเราใส่อยู่ตลอดเวลา ชั้นดินที่เป็นซัลเฟอร์นั้นถูกกันไว้ไม่ให้โดนออกซิเจนแล้วตอนนี้ไม่เพิ่มเอซิค โดยหลักการเป็นอย่างนั้น แต่หากว่าต่อไปในแปลงต่างๆ เพิ่มการทดลองอีกเมื่อได้แล้วทิ้งไว้มันจะกลับไปสู่สภาพเดิมหรือไม่แล้วเมื่อความเป็นกรดเพิ่มขึ้นใหม่จะพัฒนาให้กลับคืนมาสู่สภาพนี้ได้ ต้องใช้เวลา อาจจะใช้เวลาสักปีดูสภาพว่าปีไหนไม่ได้ใช้ดินมันจะเสื่อมลงไปเท่าไรแล้วจะกลับคืนมาเร็วเท่าไร.."

"..งานทดลองนี้เหมือนเป็นตำรา ควรทำเป็นตำราที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ดินเปรี้ยวอื่นๆ ในพื้นที่อื่นอาจจะไม่ต้องมีการแบ่งเป็นแปลงย่อยเช่นนี้ คันดินที่สร้างเพื่อกั้นน้ำก็อาจจะใช้คลองชลประทานสร้างถนน สะพาน การศึกษาจึงต้องทำแบบนี้.."

เนื่องในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงราชสมบัติครบ ๖๐ ปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันพุธที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ เห็นชอบที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรมจากโครงการแกล้งดิน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ และกำหนดให้วันที่ ๕ ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ

ขอขอบคุณข้อมูลจากเวบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

4 ตุลาคม 2554

หญ้าแฝก


ลักษณะของหญ้าแฝก
หญ้าแฝก มีรากยาว หยั่งลึก ที่แผ่กระจายลงดินในแนวดิ่ง จึงช่วยอุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคง และเมื่อนำมาปลูกเป็นแถวชิดติดกันอย่างแน่นหนา จะช่วยดักตะกอนดิน รักษาหน้าดินได้ดี คุณลักษณะสองประการนี้จะช่วยป้องกันดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน นอกจากนั้นแล้วหญ้าแฝกยังช่วยฟื้นฟูโครงสร้างดินที่สูญเสียธาตุอาหารให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์ เป็นการเพิ่มคุณภาพดินและอนุรักษ์น้ำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเพาะปลูกเพิ่มผลผลิตจากการเกษตรของประเทศ



"..ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม ดำเนินการขยายพันธุ์ทำให้มีกล้าหญ้าแฝกเพียงพอด้วย ที่สำคัญต้องไม่ลืมหน้าที่ของหญ้าแฝก ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเพื่อการรักษาดิน ให้ทุกหน่วยงานและหน่วยงานราชการที่มีศักยภาพในการขยายพันธุ์ ให้ความร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดิน ในการผลิตกล้าหญ้าแฝก และแจกจ่ายกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เพียงพอ.."
  
พระราชดำรัส ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

3 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑๒



"..โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ฉะนั้นก่อนที่จะปักใจเชื่ออะไรลงไป ควรพิจารณาดูเหตุผลให้ถ่องแท้เสียก่อน แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสำพุทธเจ้ายังทรงแนะนำให้ใช้สติและปัญญาศึกษาค้นคว้าและไตร่ตรองให้แน่ว่า คำสั่งสอนนั้น เป็นความจริงที่เชื่อได้หรือไม่ ไม่ใช่สักแต่ว่าเชื่อเพราะว่ามีผู้รู้บัญญัติไว้.."

พระราชดำรัสในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของ ๕ สถาบัน
๓ ตุลาคม ๒๕๓๒

หลักคิดเรื่องความเชื่อ ควรพิจารณาว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ เมื่อทำไปแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไร และเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างแท้จริงหรือไม่ บางครั้งการโฆษณาก็แค่หวังผลให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองไม่ได้มีความจริงใจต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง เช่น นักธุรกิจที่ขายสินค้าหรือนักการเมืองที่หาเสียงเพื่อเข้าสู่อำนาจ เราควรพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยมองข้ามความหลงใหลที่มีต่อเจ้าของความคิด เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เราเองนั่นแหละที่จะต้องรับผลแห่งความเชื่อนั้นๆ ไม่มากก็น้อย

1 ตุลาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๑๑


"... งานครูนั้นตามที่ท่านทั้งหลายทราบเพราะว่าได้ปฏิบัติมาเป็นงานที่ยาก และต้องใช้ความอดทน  เสียสละมาก ยิ่งสมัยปัจจุบันยิ่งยากขึ้นทุกที เพราะว่ามีความคิดใหม่อยู่เสมอ เช่นว่า เด็กต้องมีความคิดริเริ่มมากว่า อนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีผู้ที่จะให้ความรู้แก่เด็กที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มครูที่เรียกว่าผู้สอนเด็กๆ การสอนของครูมีความสำคัญยิ่งกว่ากลุ่มครูที่อยู่ในขั้นมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ เพราะว่าเป็นรากฐานในชีวิตของเด็กในปัจจุบันนี้ ..."

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูอาวุโส ประจำปี ๒๕๑๓
ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ
วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๓