23 กุมภาพันธ์ 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๔


"..ในสมัยปัจจุบัน นอกจากความรู้ในวิชาการซึ่งสอนกันอยู่ ยังต้องมีความรู้ในทางธรรมะ คือ ความเป็นอยู่ในจิตใจของแต่ละคน การที่เป็นคนดี เป็นคนที่มีความรู้ในทางเหตุผลนี้ สามารถที่จะทำให้คนอยู่ด้วยการร่วมกันอย่างดี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ช่วยเหลือสามัคคี นอกจากนี้จะช่วยให้คนสามารถที่จะเรียนวิทยาการได้ ผู้ใดที่เรียนวิทยาการแต่ฝ่ายเดียว จะไม่สามารถปฏิบัติตนเป็นมนุษย์ ถ้ามีศีลธรรมอยู่ในจิตใจก็สามารถปฏิบัติตนเป็นมนุษย์ที่ดี เป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อผู้อื่น

ฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้เห็นความสำคัญของศีลธรรม มิใช่ว่าจะให้คนทั่วไปทุกคนสนใจศาสนา ศึกษาศาสนาให้มากจนเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า "ธัมมะธัมโม" แต่ตั้งใจที่จะให้ผู้ที่มีความรู้ทางวิทยาการ สามารถที่จะใช้วิชานั้นให้เป็นประโยชน์ โดยอาศัยธรรมะซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ถ้าคนมีความข้องใจ มีความไม่สบายใจ ธรรมะก็ปลอบใจ คนไหนที่มีความรู้ คนไหนมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติงาน ก็จะช่วยให้ปฏิบัติงานสำเร็จ คนไหนที่มีธรรมะแล้ว จึงมีความเจริญและธรรมะจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต.."

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗


ที่มา: หนังสือ ๒๐๙ คำพ่อสอน เศรษฐกิจพอเพียง หน้า ๑๓๗

แรงจูงใจในการทำงาน
อิทธิบาท ๔ คือ เครื่องมือหรือสูตรสำหรับกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน แล้วบันดาลให้ประสบความสำเร็จตามประสงค์ในทางที่เหมาะที่ควร โดยอาศัย ฉันทะ วิริยะ อุตสาหะ และวิมังสะ ซึ่งผูกเป็นโคลงให้เข้าใจง่ายความว่า

พอใจเป็นเหตุให้   พากเพียร
จิตมุ่งไปพากเพียร   สิ่งนั้น
ดำริตริตรองเขียน    มูลเหตุ ผลนา  
จักสำเร็จสมใจหมั่น    เที่ยงแท้ ธรรมดา


แรงจูงใจในการทำงานนับว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่ควรประพฤติอันจะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ในขณะเดียวกัน แรงจูงใจดังกล่าวก็จะเบี่ยงเบนบุคคลจากพฤติกรรมซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่พึงปรารถนา กล่าวโดยย่อ บุคคลผู้มีเป้าหมายในชีวิตและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้น ย่อมสามารถกระตุ้นพลังภายในมาใช้ประโยชน์ เพื่อการสร้างชีวิตสร้างอนาคตได้ บุคคลเช่นนี้ตามปกติจะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งมอมเมา หรือไม่ยอมตกเป็นทาสของสุรา นารี พาชี และกีฬาบัตร เพราะบุคคลผู้มีเป้าหมายชีวิตในทางที่ถูกที่ควรย่อมตระหนักดีกว่าอบายมุข หรือหนทางแห่งความเสื่อมเหล่านี้ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่จะพาตนไปสู่เป้าหมายของชีวิต ในทางตรงข้ามสิ่งมอมเมารังแต่จะทำให้บุคคลหลงทางและเสียเวลาอันมีค่าในชีวิต ในประเด็นนี้พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ขอให้เธอทั้งหลาย จงหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า วันคืนล่วงไป บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่..

พุทธพจน์บทนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของเวลาในชีวิตที่เมื่อล่วงเลยไปแล้วย่อมไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ บุคคลผู้มุ่งมั่นความสำเร็จในชีวิตจักต้องรู้จักถนอมเวลา ดังสุภาษิตที่ว่า " เวลาและวารี มิใยดีจะคอยใคร "