16 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๘


"..ดนตรีนี้มีอานุภาพสูงมาก ทั้งไม่ต้องเสียสตางค์อะไรเท่าไร คือว่าขีดเขียนไปนิดหน่อยแล้วก็เล่นไป ก็ทำให้คนเขาเกิดความปีติยินดีเกิดความพอใจได้ ความรู้สึกได้ บางทีก็เกิดปลาบปลื้มจนขนลุกก็มี แต่ในที่สุดก็แสดงว่า ถ้าเราทำไปๆ ก็อาจจะล้างสมองเขาได้ อาจจะทำให้จิตใจเขาเปลี่ยนไปได้

ฉะนั้นการดนตรีนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปที่ไม่ได้เล่นดนตรี ไม่ได้แต่งเพลง ไม่ได้ร้องเพลง แต่ก็ฟังเพลงก็ถึงจิตใจของเขาได้ เท่ากับ ทำให้จิตใจเขามีความเบิกบานก็ได้ ความเศร้าหมองก็ได้ ความตื่นเต้นก็ได้ ชักจูงต่างๆ ได้ นี่คือความสำคัญของการดนตรี ซึ่งเหนือศิลปะอื่นๆ

ฉะนั้น การดนตรีนี้จึงมีความสำคัญสำหรับประเทศชาติ สำหรับสังคม ถ้าทำดีๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานการ ก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะดึงให้กลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้น ดนตรีนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรี ในรูปการณ์ต่างๆ ว่ามีความสำคัญ และต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดี ทั้งถูกต้องในทางหลักวิชาของการดนตรีอย่างหนึ่ง และก็ถูกต้องตามหลักวิชา ของผู้ที่มีศีลมีธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวม ทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่า เพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ เกิดความเสียก็ได้ ฉะนั้น ก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี.."

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่คณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยฯ
เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ เพื่อทูลถวายเงิน สมทบทุนโครงการพัฒนาตามพระราชประสงค์
ณ ศาลาดุสิดาลัย

วันพุธที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๔

ที่มา: หนังสือ ๒๐๙ คำพ่อสอนเศรษฐกิจพอเพียง หน้า ๑๘๐-๑๘๑




โลกจะสุขสบายนั่นเป็นได้หลายทาง
ต้องหลบสิ่งกีดขวางหนทางให้พ้นไป
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ
สุขและทุกข์อย่างไรเพราะใจตนเอง
ฝ่าลู่ทางชีวิตต้องคิดเฝ้าย้อมใจ
โลกมืดมนเพียงใดหัวใจอย่าคร้ามเกรง
ตั้งหน้าชื่นเอาไว้ย้อมใจด้วยเพลง
ไยนึกกลัวหวาดเกรงยิ้มสู้
คนเป็นคนจะจนหรือมี
ร้ายหรือดีคงมีหวังอยู่
ยามปวงมารมาพาลลบหลู่
ยิ้มละไมใจสู้หมู่มวลเภทภัย
ใฝ่กระทำความดีให้มีจิตโสภา
สร้างแต่ความเมตตาหาความสุขสันต์ไป
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ
เฝ้าแต่ยิ้มสู้ไปแล้วใจชื่นบาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น