31 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕๗


"..วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัยมีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ทุกๆ คน จะต้องเตรียมกายเตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปกติเดือดร้อน ทั้งนั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาและกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้.."

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ.๒๕๒๘
วันจันทร์ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

29 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕๖


"..เรื่องน้ำนี้ ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อ หรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต แม้สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องการน้ำเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นอะไรไม่ทราบ เช่น ในวัตุถุต่างๆ ในรูปผลึก ก็ต้องมีน้ำในนั้นด้วย ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่เป็นผลึก กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ฉะนั้นน้ำนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะให้ได้ทราบถึงว่า ทำไมการพัฒนา ขั้นแรกหรือสิ่งแรก ที่นึกถึงก็คือโครงการชลประทาน แล้วก็โครงการสิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี สองอย่างนี้อื่นๆ ก็จะเป็นไปได้ ถ้าหากว่าปัญหาของน้ำนี้ เราได้สามารถที่จะแก้ไข หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เรามีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ ฉะนั้นการพัฒนานั้นสิ่งสำคัญก็อยู่ตรงนี้ นอกจากนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เช่นวิชาการในด้านการเพาะปลูก เป็นต้น ตลอดจนถึง การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม หรือการค้า หรือการคลัง อะไรพวกนี้ก็ต่อเนื่องต่อไป.."

พระราชดำรัส วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๒ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

26 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕๕

"..โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายเป็นของมีคุณค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดี เป็นการแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่อดีต ควรสงวนรักษาไว้ให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล.."

พระบรมราโชวาท
ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๔


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงมีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นว่า "..โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษา และตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่.." กรมศิลปากรจึงได้สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ขึ้นเพื่อเก็บรักษาจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และโบราณวัตถุพบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอาคารก่อสร้างด้วยเงินบริจาคจากประชาชนซึ่งผู้บริจาคได้รับพระพิมพ์ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการสมนาคุณทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นนามพิพิธภัณฑ์

พระแสงดาบทองคำ 

ข้อมูลจาก:
http://www.thailandmuseum.com/chawsampraya/chawsampraya.htm

24 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕๔


"..ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มอบกระบี่แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ อีกรุ่นหนึ่ง ขอแสดงความชื่นชมด้วยกับทุกๆ คน ที่ได้รับความสำเร็จ และได้รับเกียรติเป็นนายทหารของกองทัพไทย
ท่านทั้งหลายได้ผ่านการศึกษาจากสถาบันทางทหารของไทย และกำลังจะออกไปปฏิบัติการในตำแหน่งหน้าที่สำคัญ คือการสร้างเสริมและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ในโอกาสนี้ จึงขอให้ทุกคนทำความเข้าใจให้กระจ่างว่า การจรรโลงรักษาประเทศนั้น เป็นงานส่วนรวม ไม่อยู่ในวิสัยที่บุคคลจะกระทำให้สำเร็จได้โดยลำพังตนเอง บุคคลจะทำการนี้ได้ ก็โดยปลูกฝังและเสริมสร้างความร่วมมือในชาติให้เกิดทวีขึ้น ทุกคนทุกฝ่าย ทั้งทหารและพลเรือน จึงต้องรักษาความสามัคคีในชาติ รักษาความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติไว้ทุกเมื่อ อย่ายอมให้ผู้ใด สิ่งใด มาแบ่งพวกแบ่งฝ่ายคนชาติไทยเป็นอันขาด ชาติของเราจึงจะตั้งมั่นอยู่โดยอิสระเสรี มีความผาสุกสงบและเจริญมั่นคงได้ตลอดไป

ขออวยพรให้นายทหารใหม่ทุกนาย และทุกท่านที่มาร่วมประชุมในพิธีนี้ มีความสุขความเจริญ จงทุกเมื่อทั่วกัน.."

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานกระบี่แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันจันทร์ ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๐



22 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕๓

"..ข้าพเจ้าได้กล่าวกับบัณฑิตในที่ประชุมนี้เมื่อวันก่อนๆ ถึงอิสรภาพกับวินัย ซึ่งต้องใช้ควบคู่กันไป ในการกระทำทุกอย่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์ และได้พูดถึงการทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติว่า การที่บุคคลจะทำสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องเข้าใจถึงความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมแจ้งชัดก่อน จึงจะทราบชัดถึงวิถีทางที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ของชาติให้สำเร็จได้ตามจุดหมายที่มุ่งประสงค์

วันนี้ของกล่าวเพิ่มเติมกับท่านทั้งหลายว่า การสร้างความสำเร็จในกิจการงานทุกอย่าง ทุกระดับ รวมทั้งความสำเร็จในชีวิตของแต่ละคนด้วยนั้น ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญประกอบกันถึงสามส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ ความรู้และความชำนิชำนาญทางวิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน หรือเป็นเครื่องมือปฏิบัติงานแท้ๆ ส่วนที่สอง คือความละเอียดถี่ถ้วน ความตั้งใจ และความอุตสาหะพยายาม ซึ่งเป็นเครื่องช่วยให้ทำการได้ไม่ผิดพลาดบกพร่องและสำเร็จลุล่วงได้ตลอด ไม่ทิ้งขว้างละวางเสียกลางคัน ส่วนที่สามนั้น ได้แก่สติความระลึกรู้ตัว และปัญญาความรู้ชัด หรือความเฉลียวฉลาดที่จะหยุดคิดพิจารณากิจที่จะทำ คำที่จะพูดทุกอย่าง ให้เป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงตรง ตามกระบวนการของเหตุผล ซึ่งจะช่วยให้ดำเนินชีวิตและการงานไปในทางเจริญ และบรรลุความสำเร็จที่สมบูรณ์ได้ในการที่แต่ละคนจะออกไปประกอบการงานสร้างความเจริญความสำเร็จแก่ตนแก่ส่วนรวมต่อไป จึงขอให้ตั้งใจพยายามใช้ปัจจัยทั้งสามส่วนให้ครบถ้วนทุกกรณีไป.."

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๐


ความพยายามกับความสำเร็จ
ท่ามกลางความแห้งแล้งของผืนทราย
มีคนกล่าวว่า "ขุดให้ลึกลงไป จะพบน้ำ"
หลายคนถาม "ท่านรู้ได้อย่างไร"
"ในบันทึกกล่าวไว้เช่นนั้น"
"บันทึกกล่าวอะไรบ้าง"
"ในบันทึก เล่าตั้งแต่เครื่องมือ อุปกรณ์การขุด วิธีขุด เทคนิกต่างๆ สำหรับขุดในดินต่างชนิดกัน และสุดท้ายคือบอกว่ามีน้ำที่นั่น มีหลายคนเคยขุดพบแล้วด้วย"

คนที่ยืนฟังหลายคน ลองขุด ขุดอยู่ในที่ของตน
คนที่มีอุปกรณ์ดีเลิศ รู้และเข้าใจวิธีการขุดเป็นอย่างดี ประกอบกับดินที่ขุดเป็นดินอ่อนนุ่ม ใกล้ตาน้ำ ก็พบน้ำได้ง่ายและเร็ว
คนที่มีอุปกรณ์ดีเลิศ รู้และเข้าใจวิธีการขุดเป็นอย่างดี แต่ดินบริเวณนั้นไม่ดี แห้ง แข็ง ก็ต้องใช้เวลานานขึ้น
คนที่มีอุปกรณ์ดีเลิศ แต่ไม่เข้าใจวิธีการขุด ต้องมีคนแนะนำ ก็ใช้เวลานานขึ้นไปอีก
คนที่มีอุปกรณ์ไม่ดี ไม่เข้าใจวิธีการขุดมากนัก ต้องมีคนสั่งสอนและแนะนำ ก็ใช้เวลานานยิ่งกว่า

บางคน เลิกกลางคัน บอกว่า "บันทึกโกหก ไม่มีน้ำหรอก"
บางคน ขุดต่อไป แม้ไม่รู้ว่าจะมีน้ำหรือไม่ "ฉันอยากรู้ว่ามีน้ำในนั้นจริงหรือไม่ ถ้ามีน้ำจริง จะได้ช่วยดับร้อนให้ฉัน"

ขุดต่อไป ขุดต่อไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ขุด ขี้เกียจก็นอน ตื่นนอนก็ขุด หิวก็กิน อิ่มก็ขุดต่อ หลุมลึกลงเรื่อยๆ ดินก็แข็งขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เริ่มเปียกชื้นมากขึ้น น้ำที่เขียนไว้ในบันทึก ไม่นานก็คงถึง

"..ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็ยังอยู่ที่นั่น แต่ความพยายามที่มากเพียงพอ ทุ่มเทคุณค่าให้มากพอ ความพยายามนั้น จึงจะก่อให้เกิดความสำเร็จ.."

ข้อมูลจากทำดีดอทคอม(จั่นเจา)

20 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕๒

"..การตั้งมหาวิทยาขอนแก่นขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนา ยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี.."
พระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๐๗ เดิมชื่อว่า มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Khon Kaen Institute of Technology) ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๙ ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย



ตรามหาวิทยาลัย




เป็นรูปเทพยดากระหนาบองค์พระธาตุพนมอัญเชิญมิ่งมงคลประทานแก่สถาบัน สถิตเหนือขอนไม้ ซึ่งสลักเป็นชื่อมหาวิทยาลัย พื้นหลังแบ่งเป็น 3 ช่อง มีความหมายถึง คุณธรรมของนักศึกษา 3 ประการ ได้แก่ วิทยาคือความรู้ดี จริยาคือความประพฤติดี ปัญญาคือความฉลาด เกิดแต่การเรียนดี และคิดดี

สีประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ สีดินแดง อันมีความหมายโยงไปถึงลักษณะ และภูมินามของพื้นที่ซึ่งเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดงหรือที่เรียกว่า "มอดินแดง" อันซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย

ผลงานระดับทวีปเอเชีย
ในปี ๒๕๕๔ นี้ถูกจัดให้อยู่อันดับที่ ๗๑ โดยเว็บไซต์ Webometrics (Webometrics Ranking of World
Universities)
ดอกกัลปพฤกษ์ ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ที่มา:

19 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕๑


"..เราประเทศไทยถ้าสามัคคีกันดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่มีเหตุผล เราเองจะเป็นที่ตั้งของความมั่นคงผาสุกของราษฎรที่เป็นประชากรแห่งประเทศนี้ เป็นตัวอย่างแก่มวลมนุษย์ มวลมนุษย์ก็มนุษยชาตินี้เอง และประเทศอื่นก็อาจเอาอย่างบ้าง ก็เกิดความไม่เบียดเบียนขึ้น ความอยู่ในโลกนี้อย่างสบาย พอสมควร คือไม่ใช่หรูหรา ประเทศไทยเราจะอยู่ไม่ใช่อย่างทุกคนอยู่ มีบ้านหรูหรากันทุกคน และร่ำรวยกันทุกคนแต่ว่าทุกคนก็พอมีพอกิน ผู้ที่มีความอยู่ดีกินดีนั้นย่อมสามารถป้องกันเหตุร้ายต่างๆ ได้ ทั้งในยามปกติ ทั้งในยามคับขัน เพราะว่าผู้ที่มีชีวิตที่ดี มีอาหารพอเพียง มีฐานะมั่นคง ย่อมมีจิตใจแข็งแรง และทำให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้เกิดความเข้าใจในความมั่นคง คือการรักษาความปลอดภัยของประเทศ และหวงแหนแผ่นดินของตัว


ประเทศไทยเราอาจไม่เป็นประเทศที่รุ่งเรืองที่สุดในโลก หรือรวยที่สุดในโลก หรือฟู่ฟ่าที่สุดในโลก แต่ก็ขอให้เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงมีความสงบได้ เพราะว่าในโลกนี้หายากแล้ว เราทำเป็นประเทศที่สงบ ประเทศที่มีคนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันจริงๆ เราจะเป็นที่หนึ่งในโลกในข้อนี้ แล้วรู้สึกว่าที่หนึ่งในโลกในข้อนี้จะดีกว่าผู้อื่น จะดีกว่าคนที่รวยที่สุดในโลก จะดีกว่าคนที่เก่งในทางอะไรก็ตามที่สุดในโลก ถ้าเรามีความสงบ แล้วมีความสบายความมั่นคงที่สุดในโลกนั้น รู้สึกจะไม่มีใครสู้เราได้.."


พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันศุกร์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๘


ที่มา :
พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หนังสือคำพ่อสอน
ในโครงการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้วยความรักและความดี ๖๐ ปี ๖๐ ล้านความดีถวายในหลวง

18 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕๐


"..แม้ทุกคนจะออกไปประกอบอาชีพการงานแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก เพราะวิทยาการในโลกมีมากมาย ทั้งยังพัฒนาต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย ที่สำคัญที่สุด ก็คือวิทยาการทั้งหลายนั้นมีส่วนที่สัมพันธ์และประกอบส่งเสริมกันทุกสาขา ผู้มีวิชาอย่างหนึ่งจำเป็นต้องทราบถึงวิชาอย่างอื่นด้วย.."

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาวิทาลัยขอนแก่น
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๙

ที่มา: หนังสือ ๒๐๙ คำพ่อสอน หน้า ๒๐๙

"..การพึ่งตนเองนั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติประจำบุคคลสองอย่าง คือ ความสามารถนำวิชาการที่ได้ศึกษามาใช้ในการปฏิบัติงาน กับความฉลาดที่จะวินิจฉัยให้เห็นทางเสื่อมทางเจริญ พร้อมทั้งทางที่จะให้พ้นทางเสื่อม เพื่อดำเนินไปให้ถึงความเจริญ..

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาวิทาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๒

ที่มา: หนังสือ ๒๐๙ คำพ่อสอน หน้า ๔๒

17 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๙


"..พระพุทธศาสนาบริบูรณ์ด้วยสัจธรรมที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ในทุกระดับ แต่จะต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติให้เหมาะสมแก่สภาวะปัจจุบัน ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง จึงจะเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นได้ บัดนี้ประเทศชาติกำลังพัฒนาในทุกด้าน และต้องการความสามัคคี ความสงบเรียบร้อย ผลดีทั้งปวงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ด้วยประชาชนมีหลักของใจอันมั่นคง มีศรัทธาและปัญญาอันถูกต้อง และปฏิบัติตนอยู่ในทางเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม กรณียกิจอันสำคัญของท่านทั้งหลาย คือการส่งเสริมประชาชนให้มีพระรัตนตรัยและธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นหลักของใจและความประพฤติ ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ท่านทั้งหลายจะต้องเจริญศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง คือ ความเชื่อในเหตุที่แท้ ในผลที่แท้ ไม่สับปรับ และปัญญาสามารถรู้ตามความเป็นจริง อันเกิดจากความสงบแน่วแน่ของจิต ให้เกิดขึ้นในตนเองก่อน จึงสามารถพิจารณาให้เห็นวิธีปฏิบัติ เพื่อรักษาส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติได้.."

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ที่ประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรครั้งที่ ๑๗
ณ ศาลาการเปรียญ บนภูสิงห์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ื
วันศุกร์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๒


ปัญญา กับ ศรัทธา มีบทบาทใหญ่สำคัญในเรื่องหน่วยความจำการศึกษา ถ้าปัญญามากเกินไป ก็จำไม่ค่อยถนัด เพราะความคิดเข้าข้างตัวเอง แต่ถ้าศรัทธาแรงเกินไป ก็จำได้ชัดเป็นบางเรื่อง เพราะกำลังยึดติดเฉพาะจุดที่ปักใจ เพื่อจะให้มีหน่วยความจำการศึกษาที่ดีเยี่ยม ปัญญา และ ศรัทธา ควรต้องสมดุลกัน ต้องมีลักษณะพร้อมจะน้อมใจฟังคำอันเป็นธรรม โดยไม่เข้าข้างตัวเองไม่ตามอำเภอใจแบบขาดเหตุผล จะเชื่อข้อสรุปใดต้องผ่านการพิสูจน์ หรือถ้าไม่สะดวกจะพิสูจน์ อย่างน้อยก็ต้องผ่านการพิจารณาที่มีหลักเกณฑ์เป็นเหตุเป็นผล พร้อมจะยอมรับเหตุผลอันเป็นจริง โดยไม่เลือกข้างว่าจะเป็นฝั่งตนหรือฝั่งท่าน

16 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๘


"..ดนตรีนี้มีอานุภาพสูงมาก ทั้งไม่ต้องเสียสตางค์อะไรเท่าไร คือว่าขีดเขียนไปนิดหน่อยแล้วก็เล่นไป ก็ทำให้คนเขาเกิดความปีติยินดีเกิดความพอใจได้ ความรู้สึกได้ บางทีก็เกิดปลาบปลื้มจนขนลุกก็มี แต่ในที่สุดก็แสดงว่า ถ้าเราทำไปๆ ก็อาจจะล้างสมองเขาได้ อาจจะทำให้จิตใจเขาเปลี่ยนไปได้

ฉะนั้นการดนตรีนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไปที่ไม่ได้เล่นดนตรี ไม่ได้แต่งเพลง ไม่ได้ร้องเพลง แต่ก็ฟังเพลงก็ถึงจิตใจของเขาได้ เท่ากับ ทำให้จิตใจเขามีความเบิกบานก็ได้ ความเศร้าหมองก็ได้ ความตื่นเต้นก็ได้ ชักจูงต่างๆ ได้ นี่คือความสำคัญของการดนตรี ซึ่งเหนือศิลปะอื่นๆ

ฉะนั้น การดนตรีนี้จึงมีความสำคัญสำหรับประเทศชาติ สำหรับสังคม ถ้าทำดีๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานการ ก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะดึงให้กลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้น ดนตรีนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรี ในรูปการณ์ต่างๆ ว่ามีความสำคัญ และต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดี ทั้งถูกต้องในทางหลักวิชาของการดนตรีอย่างหนึ่ง และก็ถูกต้องตามหลักวิชา ของผู้ที่มีศีลมีธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวม ทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่า เพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ เกิดความเสียก็ได้ ฉะนั้น ก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี.."

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่คณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยฯ
เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ เพื่อทูลถวายเงิน สมทบทุนโครงการพัฒนาตามพระราชประสงค์
ณ ศาลาดุสิดาลัย

วันพุธที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๔

ที่มา: หนังสือ ๒๐๙ คำพ่อสอนเศรษฐกิจพอเพียง หน้า ๑๘๐-๑๘๑




โลกจะสุขสบายนั่นเป็นได้หลายทาง
ต้องหลบสิ่งกีดขวางหนทางให้พ้นไป
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ
สุขและทุกข์อย่างไรเพราะใจตนเอง
ฝ่าลู่ทางชีวิตต้องคิดเฝ้าย้อมใจ
โลกมืดมนเพียงใดหัวใจอย่าคร้ามเกรง
ตั้งหน้าชื่นเอาไว้ย้อมใจด้วยเพลง
ไยนึกกลัวหวาดเกรงยิ้มสู้
คนเป็นคนจะจนหรือมี
ร้ายหรือดีคงมีหวังอยู่
ยามปวงมารมาพาลลบหลู่
ยิ้มละไมใจสู้หมู่มวลเภทภัย
ใฝ่กระทำความดีให้มีจิตโสภา
สร้างแต่ความเมตตาหาความสุขสันต์ไป
จะสบความสุขสันต์สำคัญที่ใจ
เฝ้าแต่ยิ้มสู้ไปแล้วใจชื่นบาน

15 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๗


"...ผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ในทางวิชาการ และในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็ก ทั้งในด้านศีลธรรมจรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ และในฐานะที่จะเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไปข้างหน้า การให้ความรู้หรือที่เรียกว่าการสอนนั้นต่างกับการอบรม การสอนคือการให้ความรู้แก่ผู้เรียน ส่วนการอบรมเป็นการฝึกจิตใจของผู้เรียนให้ซึมซาบจนติดเป็นนิสัย ขอให้ท่านทั้งหลายจงอย่าสอนแต่อย่างเดียว ให้อบรมให้ได้รับความรู้ดังกล่าวมาแล้วด้วย.."

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา
วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๓


ที่มา: หนังสือ ๒๐๙ คำสอนพ่อ เศรษฐกิจพอเพียง หน้า ๑๑๓

พลเมือง หมายถึง พละกำลังของประเทศ ซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศนั่นเองหรือมีสัญชาติของประเทศ

พลเมืองดี หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองได้ครบถ้วน ทั้งกิจที่ต้องทำและกิจที่ควรทำ

หน้าที่ หมายถึง กิจที่ต้องทำ หรือควรทำ เป็นสิ่งที่กำหนดให้ทำหรือห้ามมิให้กระทำ ถ้าทำก็จะก่อให้เกิดผลดี เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว หรือสังคมส่วนรวม โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ต้องทำ ได้แก่ กฎหมาย เป็นต้น

กิจที่ควรทำ คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ หรือละเว้นการกระทำ ถ้าไม่ทำหรือละเว้นการกระทำ จะได้รับผลเสียโดยทางอ้อม เช่น ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือไม่คบค้าสมาคมด้วย ผู้กระทำกิจที่ควรทำจะได้นับการยกย่องสรรเสริญจากคนในสังคม โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ควรทำ ได้แก่ วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น

เพราะฉะนั้นแล้ว พลเมืองดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชาติ คำสั่งสอนของพ่อแม่ ครูอาจารย์ มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน รู้จักรับผิดชอบชั่วดีตามหลักจริยธรรม และหลักธรรมของศาสนา มีความรอบรู้ มีสติปัญญาขยันขันแข็ง สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

13 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๖


 "..ความจริงปฏิบัติพระพุทธศาสนา ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ของยาก แต่ละคนทำได้ทั้งนั้น แต่ว่าก็จะต้องมีความตั้งใจ เมื่อเราอยากที่จะปฏิบัติธรรม มีความอยากแล้วก็หมายความว่า เรายินดี เราอยากที่จะปฏิบัติ
ถ้าเราสนใจพระพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนา เริ่มสนใจก็เริ่มทำได้แล้ว เพราะว่าคนเราไม่อยากปฏิบัติ ขี้เกียจปฏิบัติ หรือไม่คิดอ่านที่จะปฏิบัติ ก็ย่อมไม่ได้ปฏิบัติ เมื่อไม่ได้ปฏิบัติแล้วความมืดก็ครอบคลุม เพราะว่าไม่ได้เปิดไฟ แต่ถ้าเราอยากขึ้นมาและเห็นว่าศาสนานี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ก็ย่อมเป็นการเปิดไฟ แม้จะริบหรี่ก็เป็นความสว่างให้เห็น.."

พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศ
ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุรีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันเเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๓

ที่มา: หนังสือ ๒๐๙ คำสอนพ่อ เศรษฐกิจพอเพียง หน้า ๑๕๗

12 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๕


"..ในบ้านเมืองของเราทุกวันนี้ มีเสียงกล่าวกันว่า ความคิดจิตใจของคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อม ความประพฤติที่เป็นความทุจริตหลายอย่าง มีท่าทีที่จะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปพากันยอมรับและสมยอมให้กระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไป เป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่นอันไหลบ่าเข้ามาท่วมทั่วไปหมด จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการฝืนคลื่นที่กล่าวนั้น ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้องและเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ.."

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ที่ประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ
ครั้งที่ ๑๒ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๓


* ข้อมูลจากหนังสือ ๒๐๙ คำพ่อสอนเศรษฐกิจพอเพียง หน้า ๔๕

11 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๔

"ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี
ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด
การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อย
จึงมิใช้การทำให้ทุกคนเป็นคนดี
หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี
ให้คนดีปกครองบ้านเมือง
และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ
ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้
.."

พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ
ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี
๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒






ในสังคมเรามีคนหลากหลาย บ้างก็ดี บ้างก็เลว การจะเปลี่ยนคนอื่นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แม้กระทั่งเปลี่ยนตัวเราเองยังยากเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่สังคมควรจะต้องทำคือ หาคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมืองเพื่อที่จะมาควบคุมคนไม่ดีให้มีอำนาจ มาทำสิ่งชั่วร้ายและก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับสังคม การเลือกคนดีนั้นต้องมองด้วยจิตใจที่หนักแน่น มีเหตุมีผล ไม่ใช่หลงในรูป ในคารมคำพูดเวลาหาเสียง หลักคิดง่ายๆ ที่ผู้เขียนอยากแนะนำคือ ให้จำไว้ว่าท่านเหล่านั้นเคยพูดอะไร เวลาผ่านไปแล้วเขาไม่ทำ แสดงว่าโกหกและมีจิตใจไม่ซื่อต่อเรา คนเช่นนั้นไม่สมควรเลือกให้มีอำนาจมาปกครองบ้านเมืองต่อไป



10 ธันวาคม 2554

รัฐธรรมนูญ


มาตรา ๒ แห่งรัฐธรรมนูญกล่าวไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้


ซึ่งพระองค์ท่านก็ได้ทรงมีพระราชจริยวัตรเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกล่าวไว้อย่างเคร่งครัด พระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริงทีเดียว ดังที่เคยพระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มนิลาไทมส์ว่า

"..ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็เพราะการลงมติเห็นชอบของรัฐสภา พวกเขาเลือกข้าพเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์ ถ้าหากชื่อข้าพเจ้าได้รับการเสนอในรัฐสภา แต่พวกเขาไม่ชอบข้าพเจ้า หรือไม่รับรองเห็นชอบด้วย ข้าพเจ้าก็จะไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้ว่าข้าพเจ้าปรารถนาที่จะเป็นสักเพียงไรก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้บอกกับลูกๆ ของข้าพเจ้าว่า เราเป็นหนี้ทุกสิ่งทุกอย่างต่อประชาชน และเรามีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ.."

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือรักในหลวง ต้องทำเพื่อ..ในหลวง หน้า ๒๑๕

9 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๓


"..บัณฑิตทั้งหลายย่อมต้องมุ่งหวังความเจริญและความสำเร็จในชีวิตการงานในเบื้องหน้า ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องอาศัยกำลังเครื่องเกื้อกูลส่งเสริมประกอบพร้อมกันหลายอย่าง ทั้งทางกาย ทางความรู้ และทางจิตใจ

โอกาสนี้จึงจะขอพูดถึงเรื่อง “กำลัง” ที่เป็นหลักเป็นประธานสำหรับอุดหนุนการทำงานให้ทราบไว้ เพื่อความสำเร็จและความก้าวหน้าของทุกคน กำลังสำคัญอันดับแรกคือกำลังศรัทธา ไม่ว่าจะทำงานอะไรกับใคร เพื่อสิ่งใด ถ้าหากขาดความเชื่อถือในงาน ในบุคคล ในเป้าหมายแล้วจะหากำลังอันใดมาบันดาลใจให้ขวนขวายในการงานมิได้เลย และยากที่ผลสำเร็จหรือความพอใจจะบังเกิดขึ้นได้ดังใจหมาย ดังนั้นเมื่อจะทำการงาน จึงจำเป็นต้องปลูกศรัทธานั้น ต้องไม่ใช่การยอมตัวปล่อยใจให้เชื่อถือตามที่ถูกชักจูง ชี้นำหรือยั่วยุ ศรัทธาที่พึงประสงค์มีทางสร้างขึ้นได้ทางเดียวด้วยการเข้าไปเพ่งพินิจด้วยความคิดจิตใจที่หนักแน่น เป็นกลาง และมีเหตุผลพร้อมมูล เมื่อได้พิจารณาเห็นถ่องแท้ถึงคุณค่าถึงประโยชน์ในสิ่งนั้น คนนั้น ผลนั้นแล้ว ศรัทธาอันมั่นคงแน่นแฟ้นจะเกิดขึ้นเอง ทั้งจะนำกำลังอื่นๆ เช่น ความกระตือรือร้น ความขวนขวายพากเพียร พร้อมทั้งความคิดความฉลาด ให้เกิดขึ้นเกื้อกูลกันพร้อม ทำให้การงานดำเนินไปได้โดยราบรื่นไม่ชักช้าและสัมฤทธิ์ผลสมบูรณ์ตามที่ประสงค์ บัณฑิตจึงควรศึกษาพิจารณาเรื่องกำลังศรัทธานี้ให้กระจ่างและเกิดประโยชน์แก่ตัวจริงๆ

ขออวยพรให้ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิต มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในหน้าที่การงานจงทั่วกันทุกคน.."

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ณ สวนอัมพร
วันอาทิตย์ที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๒

8 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๒


"..ควรจะได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะช่วยกันคิดวิธีที่จะปรับปรุงแก้ไขทำให้มีความปลอดภัยความก้าวหน้าแก่ประเทศชาติ  วิธีที่จะทำนั้นก็คือแต่ละคนต้องปฏิบัติงานของตนด้วยความเข้มแข็งที่สุด โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น แล้วพยายามร่วมมือกัน ถ้าเห็นอะไรสิ่งใดที่ไม่ดีงามให้ช่วยกันปราบปราม หรือช่วยกันแก้ไขด้วยความตั้งใจจริง มิใช่ว่าแต่ละคนก็มีชีวิตของตัว แล้วก็ไม่ทุกข์ถึงความไม่สบาย หรือความไม่ดีความทุกข์ของผู้อื่น.."

พระราชดำรัส ในงานราชอุทยานสโมสร ณ สวนศิวาลัย
วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๑๑




5 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๑


"..คนไทยรักษาชาติรักษาแผ่นดินเป็นปึกแผ่น มั่นคงมาได้ด้วยสติปัญญาความสามารถ และด้วยคุณความดีอิสรภาพ เสรีภาพความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนความเจริญทุกอย่างที่มีอยู่บัดนี้ เราทั้งหลายในปัจจุบัน จึงต้องถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบอย่างสำคัญ ในอันที่จะรักษาคุณความดีพร้อมทั้งจิตใจที่เป็นไทยไว้ให้มั่นคงตลอดไป.." 
   
พระราชดำรัส ในการเสด็จออกมหาสมาคม
ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
๕ ธันวาคม ๒๕๒๑


4 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๔๐

"..คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข

คำว่า พอเพียง ความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียง นั่นเอง ให้พอเพียงก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ

เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนามาช้านานแล้ว มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปกิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงและทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้นไม่ได้แปลว่า เศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ.."

พระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

3 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓๙


พระบรมราโชวาท ในพีธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์
ณ ลานพระราชวังดุสิต

"...ทุกๆคนในชาติ ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ถ้าแต่ละคนต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เป็นผลดีที่สุดที่จะกระทำได้ ด้วยความรักชาติและมีความสามัคคีกลมเกลียวกันแล้ว ชาติของเราจะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น..." 
๓ ธันวาคม ๒๕๐๔

"...ตามประวัติศาสตร์ของเราจะเห็นได้ว่า คราวใด ที่ชาวไทยมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ชาติก็รอดพ้นจากภัยพิบัติสู่ความเจริญรุ่งเรือง แต่ คราวใดที่ขาด ความสามัคคีกลมเกลียวกัน ก็ต้องประสบเคราะห์กรรมทั้งชาติ..." 
๓ ธันวาคม ๒๕๐๕

"...บรรพชนไทย เป็นนักต่อสู้ผู้มีชีวิตจิตใจ ผูกพันปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามัคคีพร้อมเพรียงกันทุกเมื่อ ไม่ว่าจะทำการสิ่งใด บ้านเมืองไทยจึงมีเอกราชประชาอธิปไตย และมีความสุขความสมบูรณ์ทุกอย่างมาจนกระทั่งทุกวันนี้ .." 
๓ ธันวาคม ๒๕๒๒

"...ความจงรักภักดีต่อชาตินั้น คือความสำนึก ตระหนักในคุณของแผ่นดินอันเป็นที่เกิด ที่อาศัยซึ่งทำให้บุคคลเกิดความภูมิใจในชาติ กำเนิดและมุ่งมั่นที่จะธำรงรักษาประเทศชาติ ไว้ให้เป็นอิสระมั่นคงตลอดไป ..." 
๓ ธันวาคม ๒๕๒๙

"...ทหารมีหน้าที่หลักอยู่ที่การป้องกันประเทศและการธำรงรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ด้วย แสนยานุภาพนอกจากนั้นยังมีหน้าที่ด้านอื่นอีก ซึ่งมีความสำคัญเท่าเทียมกันคือการบำบัดบรรเทาความทุกข์ยาก และการปฏิบัติพัฒนาให้บังเกิดความเจริญร่มเย็น แก่บ้านเมืองและประชาชน..."
๓ ธันวาคม ๒๕๓๘

"...ทหารในฐานะที่เป็นสถาบันหนึ่งซึ่งมีความเข้มแข็ง ต้องตั้งสติให้มั่น ทำความเห็นความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่าง แล้วร่วมกันใช้ความรู้ความคิด ปฏิบัติภารกิจทั้งปวงเพื่อประโยชน์อันยั่งยืนของประเทศชาติสืบไป..." 
๓ ธันวาคม ๒๕๔๐

1 ธันวาคม 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓๘


"..การกีฬานั้นย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า เป็นปัจจัยในการบริหารร่างกายให้แข็งแรง และฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้วร่าเริง รู้จักแพ้และชนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีการให้อภัยซึ่งกันและกัน สามัคคีกลมเกลียวกัน อย่างที่เรียกกันว่ามีน้ำใจเป็นนักกีฬา รวมความว่า ผลของการกีฬา คือ ผลทางร่างกายและทางจิตใจ.."

พระบรมราโชวาท
ในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี ของกระทรวงศึกษาธิการ
วันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๘