10 กรกฎาคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๗๐



"..การที่บุคคลจะทำความดีให้ได้จริง และต่อเนื่องไปโดยตลอดได้ จะต้องอาศัยหลักปฏิบัติที่ถูกต้องแน่นอน ประการแรกจะต้องมีศรัทธาเชื่อมั่นในความดี เห็นว่าความดีหรือสุจริตธรรม ย่อมไม่ทำลายผู้ใด หากแต่ส่งเสริมให้เป็นคนสะอาดบริสุทธิ์และเจริญมั่นคง เมื่อเกิดศรัทธาแน่วแน่ในความดีแล้ว ก็จะต้องตั้งกฎเกณฑ์ ตั้งระเบียบให้แก่ตนเอง สำหรับควบคุมประคับประคองให้ปฏิบัติแต่ความดี และรักษาความดีไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ให้บกพร่องคลอนแคลน พร้อมกันนั้น ก็จะต้องพยายามเพิกถอน ลด ละ การกระทำและความคิด อันจะเป็นเหตุบั่นทอนการกระทำดีของตนด้วยตลอดเวลา สำคัญยิ่งกว่าอื่น ทุกคนจะต้องอาศัยปัญญา ความฉลาดรู้เหตุผล เป็นเครื่องตรวจสอบ พิจารณา วินิจฉัยการกระทำความประพฤติทุกอย่างอยู่เสมอโดยไม่ประมาท เพื่อมิให้ผิดพลาดเสื่อมเสีย เมื่อประกอบความดีได้โดยถูกถ้วน ก็ย่อมได้รับประโยชน์ที่สมบูรณ์แท้จริง คือประโยชน์ที่เกื้อกูลให้มีความสุขความเจริญได้ในปัจจุบัน และยั่งยืนมั่นคงตลอดไปถึงภายหน้า ข้าพเจ้าจึงขอฝากหลักปฏิบัติความดีนี้ไว้ให้ท่านทั้งหลายรับไปพิจารณาปฏิบัติต่อไป.."

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต 
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๗

25 มีนาคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๙


"..วินัยแท้จริงมีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งคือวินัยตามที่ทราบกันและถือกัน อันได้แก่ข้อปฏิบัติที่บัญญัติไว้เป็นกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้ถือปฏิบัติ อีกอย่างหนึ่งคือวินัยในตนเอง ที่แต่ละคนจะต้องบัญญัติขึ้นสาหรับควบคุมบังคับให้มีความจริงใจ และให้ประพฤติปฏิบัติตามความจริงใจนั้นอย่างมั่นคง มีลักษณะเป็นสัจจาธิษฐาน หรือการตั้งสัตย์สัญญาให้แก่ตัว วินัยอย่างนี้จัดเป็นตัววินัยแท้ เพราะให้ผลจริงและแน่นอนยิ่งกว่าวินัยที่เป็นบทบัญญัติ ทั้งเป็นปัจจัยสาคัญที่จะเกื้อกูลให้การถือการใช้วินัยที่เป็นบทบัญญัตินั้น ได้ผลเที่ยงตรง ถูกต้อง สมบูรณ์ เต็มเปี่ยมตามเจตนารมณ์.."




พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ผู้สาเร็จการศึกษา
จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ
วันพุธ ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๔


ที่มา: ๒๐๙ คำสอนพ่อ เศรษฐกิจพอเพียง หน้า ๑๗๓

17 มีนาคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๘

คนโดยมากแม้ผู้ที่เคยฝึกฝนมาให้เป็นคนหนักแน่นแล้วก็ตาม บางครั้งเมื่อต้องประสบเหตุประสบปัญหากระทบกระเทือนอย่างหนักเข้า ก็อาจบังเกิดความหวั่นไหว หรือสับสนฟุ้งซ่านได้ และเมื่อเกินหวั่นไหวฟุ้งซ่าน ความคิดสติปัญญาก็จะสั้นตัว หรือดับวูบลง ความหลงและอคติก็เข้ามาแทนที่ ทำให้จนปัญญา คิดไม่ออก ทำไม่ถูก และที่สุดก็อาจผิดพลาดเสียหายได้ต่างๆ ท่านจึงสอนให้ทุกคนรู้จักสงบใจคือบังคับใจให้หยุดคิดเรื่องที่กำลังคิด และกำลังทำให้ฟุ้งซ่านหรือสับสนอยู่นั้นเสียชั่วขณะ เมื่อหยุดคิดสับสนได้ ก็จะอำนวยโอกาสอันประเสริฐให้สติความระลึกรู้และปัญญาความเฉลียวฉลาด กลับคืนมาใหม่ ช่วยให้ใจแจ่มใส หนักแน่น เข้มแข็งเข้า ความคิดเห็นก็เข้ารูปเข้ารอย คือมีความเที่ยงตรง เป็นกลาง สุขุม ปราศจากอคติ สามารถพิจารณาเห็นเหตุผลได้กระจ่างแจ่มชัด หาทางปฏิบัติได้ถูกต้องพอเหมาะพอดี ถึงขั้นนี้ ปัญหาทั้งปวงก็จะคลี่คลาย เรื่องที่จะเสียหายก็จะแก้ได้ตก กลับกลายเป็นดีโดยตลอด บัณฑิตจึงสมควรอย่างยิ่ง ที่จะสำเหนียกตระหนักในความรู้จักสงบใจ ยั้งคิดเสมอในกาลทุกเมื่อ

ขออวยพรให้ทุกคนมีจิตใจสงบหนักแน่น เพื่อสามารถสร้างสรรค์ความสำเร็จ ความมั่นคง ความสุขสวัสดี และความเจริญก้าวหน้าให้เกิดแก่ตนแก่ประเทศชาติได้ สมตามที่มีปณิธานปรารถนา

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

วันอังคารที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๔

ที่มา: http://www.lib.ru.ac.th/speech/2524MAR17.pdf

16 มีนาคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๗


"..จิตใจที่ต่ำทรามนั้นเป็นจิตใจที่อ่อนแอ ไม่กล้าและไม่อดทนที่จะเพียรพยายามสร้างสมความดีงาม ความเจริญ ความสำเร็จในทางที่ถูกต้องเป็นธรรม มีแต่คิดจะให้ได้มาโดยสะดวกง่ายดาย โดยไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี จิตใจดังนี้ ถ้าปล่อยให้เกิดมีขึ้นจนเคยชิน อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เป็นคนมักง่ายทำงานบกพร่องเสียหายอย่างมาก ก็ทำให้เป็นคนด้านหนาไร้ความอาย หยาบคาย ละโมบ ทำอะไรที่ไหนก็เกิดอันตรายที่นั่น ท่านจึงสอนให้สังวรณ์ระวังใจของตนให้ดี อย่าให้ความชั่วเกิดขึ้นและหากเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้กำจัดเสียทันที นอกจากนี้ก็ต้องฝึกหัดบำรุงใจให้เข้มแข็งและประณีตขึ้น เพื่อรับเอาความดีซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้ก้าวถึงความสุขและความเจริญมั่นคง



การฝึกใจให้เข้มแข็งนี้ ถึงหากจะรู้สึกว่าเป็นการเหนื่อยยาก แต่ถ้าได้ตั้งใจฝึกฝนโดยสม่ำเสมอ ให้เพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ ไม่ช้านานก็จะเกิดกำลังแข็งแรง เกิดความชำนาญคล่องแคล่ว จนสามารถทำความดีได้ง่ายขึ้น ไม่เหนื่อยยากเลย.."

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
วันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๔

ที่มา: หนังสือ ๒๐๙ คำสอนพ่อ เศรษฐกิจพอเพียง หน้า ๑๗๕

14 มีนาคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๖

"..คนที่จริงใจต่อผู้อื่นนั้น ย่อมได้รับความนิยมเชื่อถือไว้วางใจ ร่วมมือสนับสนุนจากสาธุชนอยู่เสมอ จะทำการสิ่งใดก็สำเร็จและราบรื่น ท่านจึงสอนให้รักษาความจริงใจในกันและกันไว้ทุกเมื่อ นอกจากความจริงใจต่อผู้อื่นแล้ว ยังมีความจริงใจต่อตนเองอีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องรักษาให้มั่นคง และให้ยิ่งขึ้นไป คือเมื่อได้ตั้งใจในความประพฤติปฏิบัติอันใด ตามที่ได้ไตร่ตรองเห็นว่าชอบว่าเป็นประโยชน์แท้แล้ว ก็ให้ติดตามรักษาความตั้งใจที่จะกระทำดั่งนั้นให้ตลอด ทั้งที่เป็นมาแล้ว ที่กำลังเป็นอยู่ และที่จะเป็นต่อไป ผู้ที่รักษาความจริงใจต่อตนเองได้มั่นคง จะไม่เป็นคนสับปรับ หากเป็นคนเที่ยงตรง หนักแน่น ทำอะไรตามกฎเกณฑ์ ตามระเบียบ และตามความถูกต้องเป็นธรรม สามารถสร้างสมความดีความเจริญให้เพิ่มทวีขึ้นได้ ไม่มีวันถอยหลัง.."




พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
วันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๔


ที่มา: http://www.sufficiencyeconomy.org/kamphorsorn/web/page172.html

7 มีนาคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๕

"..ถ้าถูกแดดถูกฝน อนามัยแข็งแรงก็ไม่เป็นอะไร ทำให้แข็งแกร่งจิตใจก็เหมือนกัน เมื่อประสบอุปสรรคและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เราก็ขุ่นหมอง แต่ถ้าจิตใจเราแข็งแรง แข็งแกร่งดี อุปสรรคนั้นจะทำให้สามารถที่จะทำให้มีอำนาจจิตดีขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น สิ่งที่เป็นอุปสรรค สิ่งที่ทำให้เราขุ่นเคืองใจ ไม่เป็นผลร้ายต่อตัวเรากลับทำให้ใจเราแข็งแกร่ง แข็งแรง.."

เพลงพระราชนิพนธ์ ยิ้มสู้
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๖ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญ และให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลง ในงานสมาคมช่วยคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๕



 
พระบรมราโชวาทในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์
ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันเสาร์ ๗ มี.ค. ๒๕๑๓

ที่มา: หนังสือ ๒๐๙ คำสอนพ่อ เศรษฐกิจพอเพียง

23 กุมภาพันธ์ 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๔


"..ในสมัยปัจจุบัน นอกจากความรู้ในวิชาการซึ่งสอนกันอยู่ ยังต้องมีความรู้ในทางธรรมะ คือ ความเป็นอยู่ในจิตใจของแต่ละคน การที่เป็นคนดี เป็นคนที่มีความรู้ในทางเหตุผลนี้ สามารถที่จะทำให้คนอยู่ด้วยการร่วมกันอย่างดี ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ช่วยเหลือสามัคคี นอกจากนี้จะช่วยให้คนสามารถที่จะเรียนวิทยาการได้ ผู้ใดที่เรียนวิทยาการแต่ฝ่ายเดียว จะไม่สามารถปฏิบัติตนเป็นมนุษย์ ถ้ามีศีลธรรมอยู่ในจิตใจก็สามารถปฏิบัติตนเป็นมนุษย์ที่ดี เป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อผู้อื่น

ฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้เห็นความสำคัญของศีลธรรม มิใช่ว่าจะให้คนทั่วไปทุกคนสนใจศาสนา ศึกษาศาสนาให้มากจนเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า "ธัมมะธัมโม" แต่ตั้งใจที่จะให้ผู้ที่มีความรู้ทางวิทยาการ สามารถที่จะใช้วิชานั้นให้เป็นประโยชน์ โดยอาศัยธรรมะซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทุกคน ถ้าคนมีความข้องใจ มีความไม่สบายใจ ธรรมะก็ปลอบใจ คนไหนที่มีความรู้ คนไหนมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติงาน ก็จะช่วยให้ปฏิบัติงานสำเร็จ คนไหนที่มีธรรมะแล้ว จึงมีความเจริญและธรรมะจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต.."

พระราชดำรัส
พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗


ที่มา: หนังสือ ๒๐๙ คำพ่อสอน เศรษฐกิจพอเพียง หน้า ๑๓๗

แรงจูงใจในการทำงาน
อิทธิบาท ๔ คือ เครื่องมือหรือสูตรสำหรับกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน แล้วบันดาลให้ประสบความสำเร็จตามประสงค์ในทางที่เหมาะที่ควร โดยอาศัย ฉันทะ วิริยะ อุตสาหะ และวิมังสะ ซึ่งผูกเป็นโคลงให้เข้าใจง่ายความว่า

พอใจเป็นเหตุให้   พากเพียร
จิตมุ่งไปพากเพียร   สิ่งนั้น
ดำริตริตรองเขียน    มูลเหตุ ผลนา  
จักสำเร็จสมใจหมั่น    เที่ยงแท้ ธรรมดา


แรงจูงใจในการทำงานนับว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่ควรประพฤติอันจะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ในขณะเดียวกัน แรงจูงใจดังกล่าวก็จะเบี่ยงเบนบุคคลจากพฤติกรรมซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่พึงปรารถนา กล่าวโดยย่อ บุคคลผู้มีเป้าหมายในชีวิตและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้น ย่อมสามารถกระตุ้นพลังภายในมาใช้ประโยชน์ เพื่อการสร้างชีวิตสร้างอนาคตได้ บุคคลเช่นนี้ตามปกติจะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งมอมเมา หรือไม่ยอมตกเป็นทาสของสุรา นารี พาชี และกีฬาบัตร เพราะบุคคลผู้มีเป้าหมายชีวิตในทางที่ถูกที่ควรย่อมตระหนักดีกว่าอบายมุข หรือหนทางแห่งความเสื่อมเหล่านี้ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่จะพาตนไปสู่เป้าหมายของชีวิต ในทางตรงข้ามสิ่งมอมเมารังแต่จะทำให้บุคคลหลงทางและเสียเวลาอันมีค่าในชีวิต ในประเด็นนี้พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ขอให้เธอทั้งหลาย จงหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า วันคืนล่วงไป บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่..

พุทธพจน์บทนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของเวลาในชีวิตที่เมื่อล่วงเลยไปแล้วย่อมไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ บุคคลผู้มุ่งมั่นความสำเร็จในชีวิตจักต้องรู้จักถนอมเวลา ดังสุภาษิตที่ว่า " เวลาและวารี มิใยดีจะคอยใคร "

28 มกราคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๓

"..อนาคตของชาติทุกชาติย่อมขึ้นอยู่แก่เด็ก เพราะเด็กก็คือผู้ใหญ่ในเวลาข้างหน้า ถ้าบุคคลได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นพลเมืองดีอยู่ในศีลในธรรม เคารพต่อบทกฎหมายของบ้านเมืองเสียตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อเติบโตขึ้นพลเมืองของประเทศก็จะมีแต่คนดี และประเทศจะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ก็โดยต้องมีพลเมืองดีดั่งว่านี้ ข้าพเจ้าจึงมีความพอใจที่รัฐบาลของข้าพเจ้า ได้มีความสนใจในปัญหาเกี่ยวกับการที่เด็ก และเยาวชนกระทำความผิด และพยายามคิดหาทางที่จะอบรมบุคคลเหล่านี้ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี.."



พระราชดำรัสเนื่องในการเปิดศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง
วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๙๕

25 มกราคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๒


"..หลักสาคัญอันแรกที่ทหารทุกคนต้องระลึกถึงอยู่เสมอ คือความหมายและหน้าที่ของทหาร ประเทศเราเป็นประเทศที่รักความสงบไม่ชอบการรุกราน แม้กระนั้นก็ดี เมื่อทหารมีไว้สาหรับประเทศชาติ ทหารก็ต้องเป็นของประเทศชาติ หาใช่เป็นของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ โดยเฉพาะไม่

ทหารเป็นหน่วยสำคัญสำหรับรักษาความสงบและอิสรภาพของประเทศ ทหารจึงต้องมีความเข้มแข็งและมีสมรรถภาพเป็นอย่างดี สมรรถภาพของทหารอยู่ที่วินัย ต้องเชื่อฟังคำสั่งโดยชอบของผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องปกครองทหารในทางที่ชอบที่ควร โดยระลึกถึงความเที่ยงธรรมและหน้าที่อันมีเกียรติของทหาร ทั้งนี้เพราะทหารได้รับเกียรติและเอกสิทธิ เป็นผู้กุมอาวุธและกำลังรบของประเทศ เป็นที่เคารพและเกรงขามในหมู่ชนทั่วไป

ทหารจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ตนได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่น ไปเล่นการเมือง ดังนี้เป็นต้น การกระทำเช่นนั้น จะทำให้บุคคลเสื่อมความเชื่อถือในทหารโดยเข้าใจว่า เอาอิทธิพลไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว.."

พระบรมราโชวาท พระราชทานเนื่องในวันกองทัพบก
๒๕ มกราคม ๒๔๙๙

24 มกราคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๑


"..การที่บุคคลจะนำวิชาความรู้ความสามารถของตนมาปฏิบัติ ให้สำเร็จผลที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์อย่างแท้จริงได้ จำเป็นต้องอาศัยความเห็นความเข้าใจที่กระจ่างแจ่มแจ้ง อันเรียกว่า ปัญญา เป็นเครื่องชี้ชัดตัดสิน ปัญญาความเห็นความเข้าใจชัดนี้ จะเกิดได้ก็เฉพาะเมื่อมีการฝึกฝนที่ถูกและสมควร ซึ่งหมายถึงฝึกการกระทำความประพฤติทั้งปวงให้อยู่ในระเบียบที่สุจริตดีงาม ฝึกความคิดจิตใจให้หนักแน่น และมั่นคงในความเป็นกลาง จะพิจารณาวินิจฉัยเรื่องใดกรณีใด ก็อาศัยเหตุผลความถูกต้องเหมาะสมเป็นหลัก ให้จนประจักษ์ในความจริง ไม่ปล่อยทิ้งไว้เป็นปัญหา จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งสำหรับบัณฑิต ที่จะพยายามฝึกกายฝึกใจให้เที่ยงตรงดำรงอยู่ในระเบียบและระบบที่ถูกต้อง เพื่อสร้างเสริมปัญญาให้พัฒนาเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้น ทุกคนก็จะสามารถใช้ความรู้ความคิดปฏิบัติงาน และนำพาตนให้ก้าวถึงความเจริญความสำเร็จอันสมบูรณ์ในชีวิตได้สมประสงค์.."

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๔

14 มกราคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๖๐

"..ความรู้ประโยชน์แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องปลูกฝังให้หยั่งลึกในตัวเด็ก เด็กจักได้เติบโตเป็นคนฉลาดเที่ยงตรง และสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ที่พึงประสงค์ให้แก่ตนแก่ส่วนรวมได้แน่นอนมีประสิทธิภาพ.."

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก
วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๓๒





ความฉลาดเที่ยงตรง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความรู้คู่คุณธรรม เพราะถ้าเราปลูกฝังแต่ความฉลาดเพื่อความเป็นเลิศ นั่นหมายถึงทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความเป็นเลิศโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรม ถ้าสังคมไทยมีแต่คนที่ฉลาดแกมโกง ขยันทำสิ่งชั่วร้ายเพื่อตัวเอง เพื่อความเป็นเลิศ คงจะมีแต่ความวุ่นวายและไม่มีความสงบสุขอย่างแน่นอน ผมได้รวบรวมคำขวัญวันเด็กแต่ละยุคสมัย ซึ่งจะสะท้อนปรัชญาการบริหารประเทศของผู้นำแต่ละคนในอดีตดังนี้

รวมคำขวัญวันเด็ก

ปีนายกรัฐมนตรีคำขวัญ
พ.ศ. ๒๔๙๙จอมพล ป. พิบูลสงครามจงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
พ.ศ. ๒๕๐๒จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ. ๒๕๐๓จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ. ๒๕๐๔จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ. ๒๕๐๕จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ. ๒๕๐๖จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
พ.ศ. ๒๕๐๗จอมพล ถนอม กิตติขจรไม่มีคำขวัญ เนื่องจากงดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๐๘จอมพล ถนอม กิตติขจรเด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
พ.ศ. ๒๕๐๙จอมพล ถนอม กิตติขจรเด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
พ.ศ. ๒๕๑๐จอมพล ถนอม กิตติขจรอนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
พ.ศ. ๒๕๑๑จอมพล ถนอม กิตติขจรความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
พ.ศ. ๒๕๑๒จอมพล ถนอม กิตติขจรรู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
พ.ศ. ๒๕๑๓จอมพล ถนอม กิตติขจรเด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
พ.ศ. ๒๕๑๔จอมพล ถนอม กิตติขจรยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
พ.ศ. ๒๕๑๕จอมพล ถนอม กิตติขจรเยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
พ.ศ. ๒๕๑๖จอมพล ถนอม กิตติขจรเด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ. ๒๕๑๗นายสัญญา ธรรมศักดิ์สามัคคีคือพลัง
พ.ศ. ๒๕๑๘นายสัญญา ธรรมศักดิ์เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
พ.ศ. ๒๕๑๙หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมชเด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
พ.ศ. ๒๕๒๐นายธานินทร์ กรัยวิเชียรรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
พ.ศ. ๒๕๒๑พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง
พ.ศ. ๒๕๒๒พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
พ.ศ. ๒๕๒๓พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. ๒๕๒๔พลเอก เปรม ติณสูลานนท์เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
พ.ศ. ๒๕๒๕พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. ๒๕๒๖พลเอก เปรม ติณสูลานนท์รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
พ.ศ. ๒๕๒๗พลเอก เปรม ติณสูลานนท์รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
พ.ศ. ๒๕๒๘พลเอก เปรม ติณสูลานนท์สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
พ.ศ. ๒๕๒๙พลเอก เปรม ติณสูลานนท์นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. ๒๕๓๐พลเอก เปรม ติณสูลานนท์นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. ๒๕๓๑พลเอก เปรม ติณสูลานนท์นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. ๒๕๓๒พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. ๒๕๓๓พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. ๒๕๓๔พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณรู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
พ.ศ. ๒๕๓๕นายอานันท์ ปันยารชุนสามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
พ.ศ. ๒๕๓๖นายชวน หลีกภัยยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. ๒๕๓๗นายชวน หลีกภัยยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. ๒๕๓๘นายชวน หลีกภัยสืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. ๒๕๓๙นายบรรหาร ศิลปอาชามุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๔๐พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธรู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๔๑นายชวน หลีกภัยขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. ๒๕๔๒นายชวน หลีกภัยขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. ๒๕๔๓นายชวน หลีกภัยมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. ๒๕๔๔นายชวน หลีกภัยมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. ๒๕๔๕พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรเรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
พ.ศ. ๒๕๔๖พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
พ.ศ. ๒๕๔๗พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรรักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พ.ศ. ๒๕๔๘พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรเด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
พ.ศ. ๒๕๔๙พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตรอยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
พ.ศ. ๒๕๕๐พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
พ.ศ. ๒๕๕๑พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. ๒๕๕๒นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
พ.ศ. ๒๕๕๓นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. ๒๕๕๔นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะรอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
พ.ศ. ๒๕๕๕น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรสามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี

10 มกราคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕๙


"..เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัวมีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่ก็คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับ การปราบปรามการสูบฝิ่น และการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูก โดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราไปสู่หายนะได้ โดยที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งสามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก.."

พระราชดำรัสที่พระราชทาน ในโอกาสที่ทรงเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗



7 มกราคม 2555

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๕๘

"..กฎหมายนี้มีช่องโหว่เสมอ ถ้าเราถือโอกาสในการมีช่องโหว่ของกฎหมาย เพื่อการทุจริตนั้นเป็นสิ่งที่เลวทราม และทำให้นำไปสู่ความหายนะ แต่ถ้าใช้ช่องโหว่ในกฎหมายเพื่อสร้างสรรค์ ก็เป็นการป้องกันมิให้ใช้ช่องโหว่ของกฏหมายในทางทุจริต.."

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาในการวางแผนการใช้ที่ดิน
โรงแรมรินคำ จังหวัดเชียงใหม่ ๗ มกราคม ๒๕๒๓




ปัญหาการครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นปัญหาสำคัญอีกด้านหนึ่งสำหรับเกษตรกร มีพื้นที่ ๖๖.๓ ล้านไร่ ซึ่งมีเกษตรกรทำกินอยู่โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ เลย และมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ครอบครัว หรือร้อยละ ๑๐.๗ ของครอบครัวเกษตรกรทั้งประเทศอยู่ในสภาพไร้ที่ทำกิน เมื่อรวมการเช่าที่ดินทั้งจากเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ และเกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินแล้ว รวมพื้นที่เช่าทั้งหมดถึง ๑๔ ล้านไร่

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับงานพัฒนาที่ดิน โดยการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน เพื่อมิให้ประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกินต้องไปทำงานเป็นทาสเขา ทรงเห็นว่ารัฐน่าจะดำเนินการตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้กรรมสิทธิ์แก่ราษฎรให้ทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่มิได้เป็นการออกโฉนดที่จะสามารถนำไปซื้อขายได้ เพียงแต่ควรให้ออกใบสัญญารับรองสิทธิทำกิน (สทก.) แบบมรดกตกทอดแก่ทายาทให้สามารถทำกินได้ตลอดไป และด้วยวิธีการนี้ก็ได้ช่วยให้ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเองและครอบครัว โดยไม่อาจนำที่ดินนั้นไปขายและไม่ไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนอื่นๆ อีกต่อไป

หลังจากนั้นทรงขยายขอบเขตงานด้านพัฒนาที่ดินตามสภาพภูมิประเทศต่างๆ เช่น การปรับปรุงดินเค็ม ดินเปรี้ยวหรือดินพลุ เป็นต้น รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการดำรงอยู่อย่างพึ่งพาตัวเองต่อไป

ข้อมูลจาก http://www.panyathai.or.th


ส.ป.ก. 4-01 กับมุมมองของผู้เขียน
ส.ป.ก.คือ เอกสารสิทธิ์เพื่อให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเท่านั้น แต่แล้วนักการเมืองชั่ว โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กลับนำมาแจกให้คนใกล้ชิดที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรที่จังหวัดภูเก็ต หนำซ้ำในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับพยายามจะผลักดันให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อขายให้กับนายทุนได้อีก นี่คือความอัปยศเลวทรามที่สุดของการพัฒนาที่ดินในบ้านเรา โดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย