คนโดยมากแม้ผู้ที่เคยฝึกฝนมาให้เป็นคนหนักแน่นแล้วก็ตาม บางครั้งเมื่อต้องประสบเหตุประสบปัญหากระทบกระเทือนอย่างหนักเข้า ก็อาจบังเกิดความหวั่นไหว หรือสับสนฟุ้งซ่านได้ และเมื่อเกินหวั่นไหวฟุ้งซ่าน ความคิดสติปัญญาก็จะสั้นตัว หรือดับวูบลง ความหลงและอคติก็เข้ามาแทนที่ ทำให้จนปัญญา คิดไม่ออก ทำไม่ถูก และที่สุดก็อาจผิดพลาดเสียหายได้ต่างๆ ท่านจึงสอนให้ทุกคนรู้จักสงบใจคือบังคับใจให้หยุดคิดเรื่องที่กำลังคิด และกำลังทำให้ฟุ้งซ่านหรือสับสนอยู่นั้นเสียชั่วขณะ เมื่อหยุดคิดสับสนได้ ก็จะอำนวยโอกาสอันประเสริฐให้สติความระลึกรู้และปัญญาความเฉลียวฉลาด กลับคืนมาใหม่ ช่วยให้ใจแจ่มใส หนักแน่น เข้มแข็งเข้า ความคิดเห็นก็เข้ารูปเข้ารอย คือมีความเที่ยงตรง เป็นกลาง สุขุม ปราศจากอคติ สามารถพิจารณาเห็นเหตุผลได้กระจ่างแจ่มชัด หาทางปฏิบัติได้ถูกต้องพอเหมาะพอดี ถึงขั้นนี้ ปัญหาทั้งปวงก็จะคลี่คลาย เรื่องที่จะเสียหายก็จะแก้ได้ตก กลับกลายเป็นดีโดยตลอด บัณฑิตจึงสมควรอย่างยิ่ง ที่จะสำเหนียกตระหนักในความรู้จักสงบใจ ยั้งคิดเสมอในกาลทุกเมื่อ
พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
วันอังคารที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๔
ที่มา: http://www.lib.ru.ac.th/speech/2524MAR17.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น