5 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๕


ขอเล่าถึงความรู้สึกที่มีตอนหนึ่ง เวลาไปแจกปริญญา คราวที่แล้วก็เป็นของสถาบันเทคนิคพระจอมเกล้า นั่งๆ ดู นั่งๆ แจกปริญญา คิดๆ อยู่ว่าผู้ที่นั่งอยู่ข้างล่างที่ขึ้นมารับปริญญานี้เด็กๆ กว่าเราทั้งนั้น แม้จะอาจารย์มากหลายคน ส่วนใหญ่ก็เด็กกว่าเราทั้งนั้น เราก็อายุมากขึ้น แล้วเราก็อยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ พวกที่มารับปริญญานี้ หรือผู้ที่อายุน้อยกว่าเรา ก็ต้องรับมรดก รับสิ่งที่มีอยู่ในประเทศเดี๋ยวนี้ แล้วก็รักษาไว้และเสริมสร้างต่อไป ความจริงเราทำหน้าที่แล้ว สร้างขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเรื่องของอนุชนรุ่นหลังที่จะรักษา แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ หรือไม่ได้ฝึกฝนอบรม ไม่ได้ขัดเกลา เขาจะรับหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้ ถ้ารับหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้ ทั้งวิชาการ ทั้งคุณธรรมไม่มี คนอื่นที่อาจจะมีความเฉลียวฉลาดมาก ก็อาจจะมาสวมรอยเอาไปจากผู้ที่ควรจะได้รับแล้วก็จะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่สุด เพราะว่าเราได้สร้าง เราคือประชาชนในเมืองไทยที่ได้มีอายุมากในปัจจุบัน หรือที่ล่วงลับไปแล้ว ได้สร้างขึ้นมาให้ถ่ายทอดไปถึงอนาคตต่อไป อนุชนรุ่นหลังก็ต้องถ่ายทอดบ้าง ฉะนั้น โครงการสารานุกรมนี้ก็เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่ง สำหรับให้สามารถถ่ายทอดความรู้ นอกจากความรู้ก็วัฒนธรรมและคุณธรรมต่าง ๆ ให้แก่ผุ้ที่จะมาภายหลัง ถึงว่างานนี้ดูจะ เป็นงานที่แปลกที่ว่าทำไม ๑๕ ปีแล้วยังทำต่อ แล้วที่บอกว่าเดิมจะทำ ๑๒ เล่ม เดี๋ยวนี้ก็เห็นว่าจะต้องทำมากกว่า ความจริงนั้นอาจารย์สำเภาไม่ได้บอก เดิมกะไว้ให้มี ๔ เล่มเท่านั้นเอง แต่ว่าเมื่อถึง ๔ เล่มแล้วไม่พอต้องมีมากขึ้นๆ ฉะนั้นเดี๋ยวนี้จะพูดกันได้ว่า ถ้าเราคิดจะทำก็คงไม่จำกัดจำนวนเล่มคงจะทำไปเรื่อย ถ้าไม่เบื่อ ถ้าผู้ที่สร้าง สารานุกรมนี้ไม่เบื่อในงาน แต่เข้าใจว่าไม่เบื่อเพราะแสดงมาแล้ว พิสูจน์มาแล้วว่ายังคงมีความกระตือรือร้นมากเท่ากับตอนต้น หรือจะมากกว่าตอนต้นด้วยซ้ำ แล้วเมื่อได้มาประมวลความสำเร็จที่มีมาถึงบัดนี้ ก็คงต้องมีกำลังใจได้ว่า ต่อไป ทำต่อไป จะมีประโยชน์ยิ่งๆ ต่อไป และข้อสำคัญเราทำแบบของเรา มิได้ทำตามแบบของที่ไหน เราอาจจะไปดูว่าในต่างประเทศเขามีสารานุกรมสำหรับเยาวชนแบบไหน มีมากหลายๆ ชนิด แล้วก็เราเอามาเป็นตัวอย่างได้ แต่ของเราเอาจากตัวอย่างบ้าง และมาดัดแปลงบ้าง ซึ่งก็ได้ผลดีแล้วเป็นที่นิยมของเยาวชนไทย ในโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับสารานุกรมนี้ก็เห็นว่าแย่งกันอ่าน แย่งกันดู สนใจจริงๆ แต่ไม่ใช่ว่าแย่งกันอย่างป่าเถื่อน แย่งกันอย่างดี ทะนุถนอม คล้าย รู้ว่าหนังสือนี้ถ้าแย่งกันอย่างไม่ทะนุถนอม ก็ฉีกขาดเสียประโยชน์ไป หมายความว่าจะบอกได้ว่าโครงการนี้ได้ผลดี ได้ผลดีขึ้นมาด้วยการร่วมมือกันทำ ท่านทั้งหลายผู้ที่เป็นวิทยากรคือเขียน และผู้ที่ขัดเกลา ผู้ที่เรียง ผู้ที่ทำธุรการ ผู้ที่สนับสนุนในทางทรัพย์ เพื่อที่จะให้บรรลุผลได้ก็ต้องเอ่ยถึงผู้ที่พยายามหาทุนคือพวกกรรมการหาทุนซึ่งทำงานอย่างเข็มแข็ง พยายามที่จะให้คนเข้าใจและยินดีบริจาค ฉะนั้นก็สรุปได้ว่างานในวันนี้ก็คงได้ผลดี เพราะว่าได้มาพบกัน แล้วก็ได้เห็นความสำคัญของโครงการ

พระราชดำรัสในงานวันโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ณ โรงแรมไฮแอท เซ็นทรัลพลาซ่า
วันเสาร์ ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๖



ที่มา: http://kanchanapisek.or.th/

1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นภาพในหลวงทรงสอนเด็กนักเรียนแล้ว ทำให้นึกถึงวีดีโอที่ทรงสอนนักเรียนเรื่องดินจัง ไม่รู้ว่ายังมีอยู่มั้ย

    ตอบลบ