30 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓๗


"..ขณะนี้รู้สึกกันทั่วไปว่า มีปัญหาเยาวชนในบ้านเมืองมากขึ้นเนื่องจากเหตุหลายกระแส ความจริง เยาวชนมิได้ต้องการที่จะทำตัวให้ยุ่งยากแต่อย่างใด แต่โดยเหตุที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่ดูแลเท่าที่ควร และขาดที่พึ่ง ขาดผู้ที่จะให้ความรู้ ให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม เขาจึงต้องกลายไปเป็นบุคคลที่เป็นปัญหาแก่สังคม

เป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นครูเป็นอาจารย์เป็นผู้บริหารการศึกษาที่จะต้องช่วยเหลือเขาด้วยหลักวิชาและความสามารถ ทุกคนได้เรียนวิชาการแนะแนวมาแล้ว ควรจะได้นำหลักการมาปฏิบัติเพื่อให้เยาวชนได้รับประโยชน์อันแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแนะแนวทางความประพฤติและจิตใจ ซึ่งสำคัญมาก ขอให้เพียรพยายามปลูกฝังความรู้ความคิดที่ปราศจากโทษให้แก่เขาโดยเสมอหน้า แนะนำอบรมด้วยเหตุผลและด้วยความจริงใจ ประกอบด้วยความเมตตาปรานี สงเคราะห์อนุเคราะห์และนำพาไปสู่ทางที่ถูกที่เจริญ เยาวชนก็จะเกิดมีความมั่นใจและมีกำลังใจที่จะทำความดี เพื่อจักได้มีอนาคตที่มั่นคงแจ่มใสในวันข้างหน้า.."

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ วิทยาลัยวิชาการศึกษา
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕

29 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓๖


"..ข้าพเจ้ามีความสนใจและพอใจในกิจกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยนี้ได้ดำเนินปฏิบัติตามที่อธิการบดีได้รายงานแล้วนั้นเป็นอันมาก และขอแสดงความยินดีแก่บรรดาท่านผู้สำเร็จการศึกษา จนได้รับเกียรติจากสถานการศึกษาชั้นสูงแห่งนี้ ในวันนี้

สำหรับนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในขั้นมหาวิทยาลัยนั้น ต่างก็จะได้มีอาชีพเป็นบุคคลชั้นนำของประเทศชาติตามสาขากิจการต่างๆ ในอนาคต ภาระความรับผิดชอบเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ จึงตกอยู่แก่ท่านมิใช่น้อย ฉะนั้น เมื่อท่านได้รำลึกและใคร่ครวญอยู่เสมอ  ในทางที่จะนำปัญญา คือ ความรู้ กอปรด้วยความสามารถออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนและผู็อื่นอย่างมากที่สุดเป็นหน้าที่ประจำวันแล้ว จักบังเกิดผลานิสงส์นำความรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติอย่างแน่นอนมิต้องสงสัย.."

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและประกาศนียบัตร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๙

28 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓๕



"..เยาวชนทุกคนมิได้ต้องการทำตัวให้ตกต่ำ หรือให้เป็นปัญหาแก่สังคมประการใด แท้จริงต้องการจะเป็นคนดีมีความสำเร็จ มีฐานะ มีเกียรติ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างราบรื่น แต่การที่จะบรรลุถึงความประสงค์นั้น จำเป็นต้องอาศัยผู้แนะนำ ควบคุมให้ดำเนินไปโดยถูกต้อง ในฐานะหน้าที่ที่เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นผู้บริหารการศึกษา ท่านจะช่วยเขาได้มากที่สุด เพราะมีส่วนควบคุมดูแลใกล้ชิดอยู่ทุกๆ ด้าน รองลงมาจากบิดามารดา ดังนั้นจึงใคร่ขอให้ท่านทำตัวเป็นผู้นำและเป็นที่พึ่งที่แท้จริง เพียรพยายามใช้วิชาความสามารถที่มีอยู่ฝึกฝนอบรมด้วยเหตุผลและความฉลาด ด้วยความกรุณาปรานีและความบริสุทธิ์ใจ ประสิทธิประสาทความรู้ความคิดที่ดีที่ปราศจากโทษให้เสมอหน้า อนุเคราะห์และนำพาไปในทางถูกทางเจริญ เพื่อช่วยให้เยาวชนของเรามีอนาคตอันมั่นคงแจ่มใสต่อไป.."

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา
ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕

27 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓๔


"..การกีฬานั้น นอกจากจะให้ความสนุกสนานและความสมบูรณ์แก่ร่างกายแล้ว ยังให้ผลดีทางจิตใจได้อย่างมากมาย นักกีฬาที่ได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างดีแล้ว ย่อมมีใจแน่วแน่ตัดสินใจได้รวดเร็ว มีความเพียรพยายามไม่ท้อถอย และมีความหนักแน่น รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย ผู้มีใจเป็นนักกีฬา จึงเป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และน่าคบหาสมาคมด้วยอย่างยิ่ง.."

พระบรมราโชวาท ในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี ๒๕๐๗
ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ กรมพลศึกษา
วันศุกร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๗


ทรงสกีน้ำแข็งครั้งแรกในช่วงปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ - ๒๔๗๘ เมื่อมีพระชนมายุ ๘ พรรษา
ขณะประทับและทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พร้อมด้วยสมเด็จพระเชษฐาธิราชและพระเชษฐภคินี

26 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓๓


"..จุดประสงค์ของการให้การศึกษานั้น คือการแนะนำส่งเสริมให้บุคคลมีความเจริญงอกงามในการเรียนรู้ การคิดอ่านการกระทำ และให้สามารถนำเอาคุณสมบัติทั้งปวงที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เกื้อกูลตนเกื้อกูลผู้อื่น เพื่อให้อยู่ร่วมกันเป็นสังคมเป็นประเทศได้ ผู้มีหน้าที่ให้การศึกษาแก่อนุชน จึงจำเป็นต้องระมัดระวังตั้งใจ ปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงจุดหมายทั้งนี้อยู่เป็นนิตย์

การที่จะอบรมสนับสนุนอนุชนให้ได้ผลตามความมุ่งหมายของการศึกษานั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าการฝึกฝน และปลูกฝังความรู้จักเหตุผล ความรู้จักผิดชอบชั่วดี เป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อยกว่าการใช้วิชาการ เพราะการรู้จักพิจารณาให้เห็นเหตุเห็นผล ให้รู้จักจำแนกสิ่งผิดชอบชั่วดีได้โดยกระจ่างแจ้ง ย่อมทำให้มองบุคคล มองสิ่งต่าง ๆ ได้ลึกลงไป จนเห็นความจริงในบุคคลและในสิ่งนั้น ๆ เมื่อได้มองเห็นความจริงแล้ว ก็จะสามารถใช้ความรู้และวิชาการ ปฏิบัติงานทุกอย่างได้ดีและถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อตนแก่ผู้อื่นได้มากขึ้น.."

พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่บัณฑิต ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๖

25 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓๒


"..หนังสือนี้ ถ้าดูในทางพัฒนา ในทางความก้าวหน้าของมนุษย์ เพื่อให้ชีวิตของตนสามารถที่จะมีความมั่นคงนั้น จึงมีความสำคัญไม่ใช่น้อย เพราะว่าเป็นแหล่งของความรู้ที่จะค้ำจุนเราให้มีชีวิตได้ให้มีความสุขได้ อันนี้ก็พูดถึงหนังสือทั่วไปทุกอย่างทุกชนิด และโดยเฉพาะทางวิชาการ แต่หนังสือย่อมมีความสำคัญมากกว่าเป็นวิชาการที่จะสอนให้เรามีความรู้และสามารถที่จะปฏิบัติตนดำรงชีวิตได้.."

พระบรมราโชวาท
พระราชทางแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ
ในโอกาสที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๔

23 พฤศจิกายน 2554

ในหลวงกับซีเกมส์


การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ในปี ๒๕๑๐ นั้น แรกเริ่มเดิมทีเป็นคิวของกัมพูชาในการเป็นเจ้าภาพ แต่กัมพูชาขอถอนตัว ประเทศไทยจึงรับเป็นเจ้าภาพแทน ในครั้งนี้เองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้เข้าร่วมแข่งขัน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในฐานะนักกีฬาเรือใบ ตัวแทนทีมชาติไทย


พระองค์ทรงร่วมแข่งขันในประเภท OK Dinghy class หรือเรียกติดปากสั้นๆ ว่า เรือใบประเภท OK พระองค์ทรงต่อเรือแข่งด้วยพระองค์เอง พระราชทานชื่อว่า "นวฤกษ์" และทรงคว้าชัยชนะในการแข่งขัน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวในเอเชียที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในระดับนานาชาติ

ชัยชนะครั้งนั้น พระองค์ยังมีพระราชกระแสรับสั่งอย่างน่าสนใจว่า "..การชนะการแข่งขัน ความจริงคือ การชนะตนเองนั่นแหละ.." สะท้อนถึงปรัชญาลึกซึ้งที่ทรงตระหนักในเกมกีฬา


ความทรงจำของคุณชายสมชนก ซึ่งเป็นนักแล่นใบท่านหนึ่ง ที่ในอดีตเคยเป็นคู่แข่งขันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างการแข่งขันหลายครั้ง

"..ตอนนั้นนักข่าวชอบมาถามผมอยู่เสมอๆ ในการแข่งขันเรือใบตลอดมา ว่ามันข้องใจ ผมถามจริงๆ เถอะ เวลาแข่งขันเรือใบกับพระเจ้าอยู่หัว หม่อมหย่อนหรือเปล่า เขาถามผม ผมก็บอกว่า ในการแข่งขันเรือใบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมไม่เคยหย่อนฝีมือเลยเป็นอันขาด แล้วก็ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับตามกฎของกีฬาเรือใบทุกประการ ถ้าขืนไปหย่อนถวาย ท่านรู้นะครับว่าไปหย่อนถวายท่าน ท่านไม่เล่นด้วยเลย ท่านหาว่าดูถูกฝีพระหัตถ์ท่าน เพราะพระองค์ท่านเองก็แน่เหมือนกัน  นี่ผมอยากจะเรียนให้ประชาชนทราบ ผมไม่เคยหย่อนฝีมือถวาย ไม่ว่าเรือ class ไหนทั้งนั้น คนอื่นก็เหมือนกัน นักเรือใบจริงๆอย่างพระองค์พีระก็ดี หรือ ดร.รชฏนี่แหละครับ ถ้าเอาชนะพระเจ้าอยู่หัวได้ เขาจะภูมิใจมาก.."

** ข้อมูลจาก **
http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=54847
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=167228

22 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓๑


"..ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าเป็นชาติเชื้อใด และแม้อยู่ในนิกายใด ล้วนถือทางปฏิบัติในกายวาจาใจเป็นอย่างเดียวกัน คือย่อมพยายามอยู่ทุกเมื่อ ที่จะรักษากายวาจาใจ ให้สะอาดควบคุมประคองใจ ให้สงบด้วยความมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ชาวพุทธที่แท้อยู่ ณ ที่ใด ย่อมทำให้ที่นั่นสงบร่มเย็น มีแต่ความปรองดองและสร้างสรรค์.." 
   
พระราชดำรัส พระราชทานในการประชุมใหญ่
องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
ณ อาคารรัฐสภา ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๓




องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
ใช้อักษรย่อว่า "พ.ส.ล." เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "THE WORLD FELLOWSHIP OF BUDDHISTS" ใช้อักษรย่อว่า "THE WFB"

วัตถุประสงค์
๑. ส่งเสริมสนับสนุนให้มวลสมาชิกรักษาศีลและปฏิบัติธรรม ตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเคร่งครัด
๒. เสริมสร้างความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่น และภราดรภาพในหมู่พุทธศาสนิกชน
๓. เผยแผ่หลักธรรมอันบริสุทธิ์ประเสริฐของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมทั้งหลายอันเป็นประโยชน์ในด้านสังคม การศึกษา วัฒนธรรม และมนุษยธรรม
๔. ดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่มนุษย์ และความผาสุกให้แก่มวลชน ตลอดจนทำให้ความร่วมมือกับองค์การอื่น ๆ ซึ่งประกอบกิจการที่มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน

ภารกิจหลักขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
ภารกิจหลักของ พ.ส.ล. คือ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นและสามัคคีธรรมของชาวพุทธทั่วโลก รวมทั้งจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การฯ

21 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๓๐


"..ในส่วนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งต่างก็จะได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพในสาขาต่างๆ ใช้ความรู้ที่ได้รับมาให้เป็นประโยชน์แก่สังคมและชาติบ้านเมืองนั้น ข้าพเจ้าใคร่ฝากข้อคิดซักเล็กน้อยไปประกอบพิจารณาของท่านด้วย

อันสิ่งที่เรียกกันว่า "อุดมคติ" นั้นก็คือ มโนภาพหรือความนึกคิดถึงความดีความงามอันเลอเลิศในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งถ้าเป็นไปตามมโนภาพนั้นแล้ว ก็จะจัดว่าเป็นของที่ดีงามเลิศด้วยประการทั้งปวง กล่าวโดยทั่วไป มนุษย์เราย่อมปรารถนาจะประสบแต่สิ่งที่ดีงามเจริญตาเจริญใจ จึงควรจะได้มีอุดมคติด้วยกันทั้งนั้น แต่หากควรเป็นไปในทางไม่ก่อความเบียดเบียนแก่ผู้อื่น โดยเพ่งเล็งถึงประโยชน์สุขของผู้อื่นหรือส่วนรวมด้วย

การเล็งผลดีหรืองามเลิศดั่งว่านี้ ถ้าหากเป็นไปเพียงแต่เพื่อประโยชน์สุขของตนเองเท่านั้น และเป็นการเบียนประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ก็จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวหาควรได้ชื่อว่า "อุดมคติ" ไม่.."

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและประกาศนียบัตร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๐

20 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๙


"..ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษ หรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ทุกคนทุกประเทศในโลกจึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้างเสริมสภาวะแวดล้อม ให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์.."

พระราชดำรัสพระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก
ในพิธีรับมอบเรือขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าฯ ถวาย
วันพุธที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๙



เรือเด่นสุทธิ เป็นเรือประเภทขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (Antipollution vessel)
ภารกิจหลัก ป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันในน่านน้ำไทย โดยวิธีการและอุปกรณ์ที่ประจำอยู่ในเรือได้แก่
๑. การล้อมกักคราบน้ำมันในน้ำโดยใช้ทุ่นกักน้ำมัน (Boom)
๒. การเก็บคราบน้ำมันขึ้นจากผิวน้ำโดยใช้อุปกรณ์เก็บคราบน้ำมัน (Skimmer)
๓. การเก็บและขนส่งคราบน้ำมันที่เก็บได้โดยบรรจุคราบน้ำมันไว้ในถังเก็บของเรือ
๔. การขจัดคราบน้ำมันด้วยสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน

ภารกิจรอง ให้การสนับสนุนการปฏิบัติการด้านอื่นๆ เช่น
๑. การดับเพลิง
๒. การตรวจการณ์ทางทะเล
๓. การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล

พื้นที่ปฏิบัติงาน เรือเด่นสุทธิได้รับการออกแบบมาเพื่อปฏิบัติการตามภารกิจในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยตอนบน และในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

คุณลักษณะ
ขนาดเรือ ๒๑๓.๐๐ ตันกรอสส์
ความยาวตลอดลำ ๓๐.๘๐ เมตร
ความยาวที่แนวน้ำ ๒๘.๐๐ เมตร
ความกว้าง ๗.๘๐ เมตร
ความลึก ๓.๒๐ เมตร
อัตรากินน้ำลึก ๒.๒๕ เมตร

** ข้อมูลจากเวบไซค์กรมเจ้าท่า www.md.go.th

19 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์


เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ เลขที่ ๒๙๑๖๒ และสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ เลขที่ ๒๙๑๖๓ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่คณะทำงานศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านไฟฟ้าพลังน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายครั้งนี้ สืบเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้คณะทำงานฯ ดำเนินงานศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ซึ่งคณะทำงานฯ ได้สนองพระราชดำริจนประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ทั้งแบบหมุนตามแนวแกนตั้งและแบบหมุนขวางการไหล พร้อมโครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ โดยเริ่มทดลองเดินกังหันพลังน้ำต้นแบบทั้ง ๒ แบบ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ต่อมาในเดือนเมษายน ๒๕๕๓ ได้ทดลองประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบหมุนตามแนวแกนตั้งนำไปติดตั้งที่ประตูระบายน้ำบรมธาตุ จังหวัดชัยนาท และจะประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อติดตั้งที่ประตูระบายน้ำช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ ต่อไป


ทรงพระราชทานชื่อสิ่งประดิษฐ์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ว่า "อุทกพลวัต" (อุ-ทก-พน-ละ-วัด) มีความหมายว่า กังหันผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำไหล



**ข้อมูลจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์

18 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๘


"..ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง.."

พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐

16 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๗

 
"..แต่ละคนปฏิบัติงานในการรักษาความมั่นคงของบ้านเมืองด้วยความตั้งใจยิ่งขึ้น กีฬาจึงจะเป็นประโยชน์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติกีฬา คือนักกีฬาเท่านั้นเอง ก็เป็นเรื่องของผู้ที่ฝึกซ้อมที่จะต้องพยายามหาทางให้บรรลุถึงเป้าหมายนี้ และเป็นเรื่องของกรรมการสมาคมฟุตบอลที่จะหาทางที่จะขจัดอุปสรรคจนได้ผลตามจุดประสงค์นี้ ฉะนั้น แต่ละคนมีหน้าที่ที่จะทำให้การกีฬาฟุตบอลก้าวหน้ามีมาตรฐานสูง เอาชนะได้ และเป็นทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ในที่สุด ถ้าไม่ได้ทำก็มีมุมกลับ ถ้าแสดงตนว่าเป็นคนที่เป็นนักกีฬาอันธพาล ก็เป็นผู้ที่บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติในที่สุดเหมือนกัน เมื่อจะปฏิบัติกีฬา เมื่อจะจัดการแข่งขันใดๆ ก็ต้องนึกถึงตัว ทำให้ดีที่สุดในทุกทาง มิฉะนั้นอย่าทำดีกว่า อย่าเล่นดีกว่า เพราะว่าจะเป็นการชักจูงให้ส่วนรวมไปรับทางที่ไม่ดี อันนี้ก็เป็นความคิดที่เกิดขึ้น และก็ขอฝากไว้กับทุกคน ทั้งผู้ที่เป็นนักกีฬา ผู้ที่ฝึกซ้อม ผู้ที่จัดกีฬาทุกประเภท และโดยเฉพาะการฟุตบอล ซึ่งในเวลานี้มีการกล่าวขวัญกันว่าชักเสื่อมลงอย่าให้คำที่เขากล่าวขวัญว่าเสื่อมลงเป็นความจริงได้.."

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะสภากรรมการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและนักกีฬา
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๕

13 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๖


"..การให้การศึกษาคือ การให้คำแนะนำและส่งเสริมบุคคลให้มีความเจริญงอกงามในการเรียนรู้คิดอ่านและการทำตามอัตภาพของแต่ละคน โดยจุดประสงค์ในที่สุดคือ ให้บุคคลนำเอาความสามารถที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลตน เกื้อกูลผู้อื่นอย่างสอดคล้อง และไม่ขัดแย้งเบียดเบียนแก่งแย่งกัน เพื่อสามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นประเทศได้.."

พระราชดำรัส ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๖

พระองค์ทรงเน้นที่จะให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากตัวบุคคลให้มีความพร้อม มีความเห็นที่ถูกต้อง รู้ความเป็นจริงแท้ และเมื่อความเป็นปัจเจกมีความสมบูรณ์แล้วก็ให้หยิบยื่นสิ่งที่ดีงามในตนออกมาสู่สังคมส่วนรวม หากทุกอนูย่อยๆ ที่สมบูรณ์ของสังคมนี้สามารถเชื่อมสานสิ่งดังกล่าวเข้าด้วยกัน ช่องว่าง หรือรอยต่อก็จะไม่เปิดให้กับสิ่งชั่วร้ายเกิดขึ้นในสังคม ดังนี้สังคมส่วนรวมอันหมายถึง ประเทศชาติก็จะอุดมด้วยสันติ

5 พฤศจิกายน 2554

วันนี้ในอดีต: พระราชดำรัส ๒๕


ขอเล่าถึงความรู้สึกที่มีตอนหนึ่ง เวลาไปแจกปริญญา คราวที่แล้วก็เป็นของสถาบันเทคนิคพระจอมเกล้า นั่งๆ ดู นั่งๆ แจกปริญญา คิดๆ อยู่ว่าผู้ที่นั่งอยู่ข้างล่างที่ขึ้นมารับปริญญานี้เด็กๆ กว่าเราทั้งนั้น แม้จะอาจารย์มากหลายคน ส่วนใหญ่ก็เด็กกว่าเราทั้งนั้น เราก็อายุมากขึ้น แล้วเราก็อยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ พวกที่มารับปริญญานี้ หรือผู้ที่อายุน้อยกว่าเรา ก็ต้องรับมรดก รับสิ่งที่มีอยู่ในประเทศเดี๋ยวนี้ แล้วก็รักษาไว้และเสริมสร้างต่อไป ความจริงเราทำหน้าที่แล้ว สร้างขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเรื่องของอนุชนรุ่นหลังที่จะรักษา แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ หรือไม่ได้ฝึกฝนอบรม ไม่ได้ขัดเกลา เขาจะรับหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้ ถ้ารับหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้ ทั้งวิชาการ ทั้งคุณธรรมไม่มี คนอื่นที่อาจจะมีความเฉลียวฉลาดมาก ก็อาจจะมาสวมรอยเอาไปจากผู้ที่ควรจะได้รับแล้วก็จะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่สุด เพราะว่าเราได้สร้าง เราคือประชาชนในเมืองไทยที่ได้มีอายุมากในปัจจุบัน หรือที่ล่วงลับไปแล้ว ได้สร้างขึ้นมาให้ถ่ายทอดไปถึงอนาคตต่อไป อนุชนรุ่นหลังก็ต้องถ่ายทอดบ้าง ฉะนั้น โครงการสารานุกรมนี้ก็เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่ง สำหรับให้สามารถถ่ายทอดความรู้ นอกจากความรู้ก็วัฒนธรรมและคุณธรรมต่าง ๆ ให้แก่ผุ้ที่จะมาภายหลัง ถึงว่างานนี้ดูจะ เป็นงานที่แปลกที่ว่าทำไม ๑๕ ปีแล้วยังทำต่อ แล้วที่บอกว่าเดิมจะทำ ๑๒ เล่ม เดี๋ยวนี้ก็เห็นว่าจะต้องทำมากกว่า ความจริงนั้นอาจารย์สำเภาไม่ได้บอก เดิมกะไว้ให้มี ๔ เล่มเท่านั้นเอง แต่ว่าเมื่อถึง ๔ เล่มแล้วไม่พอต้องมีมากขึ้นๆ ฉะนั้นเดี๋ยวนี้จะพูดกันได้ว่า ถ้าเราคิดจะทำก็คงไม่จำกัดจำนวนเล่มคงจะทำไปเรื่อย ถ้าไม่เบื่อ ถ้าผู้ที่สร้าง สารานุกรมนี้ไม่เบื่อในงาน แต่เข้าใจว่าไม่เบื่อเพราะแสดงมาแล้ว พิสูจน์มาแล้วว่ายังคงมีความกระตือรือร้นมากเท่ากับตอนต้น หรือจะมากกว่าตอนต้นด้วยซ้ำ แล้วเมื่อได้มาประมวลความสำเร็จที่มีมาถึงบัดนี้ ก็คงต้องมีกำลังใจได้ว่า ต่อไป ทำต่อไป จะมีประโยชน์ยิ่งๆ ต่อไป และข้อสำคัญเราทำแบบของเรา มิได้ทำตามแบบของที่ไหน เราอาจจะไปดูว่าในต่างประเทศเขามีสารานุกรมสำหรับเยาวชนแบบไหน มีมากหลายๆ ชนิด แล้วก็เราเอามาเป็นตัวอย่างได้ แต่ของเราเอาจากตัวอย่างบ้าง และมาดัดแปลงบ้าง ซึ่งก็ได้ผลดีแล้วเป็นที่นิยมของเยาวชนไทย ในโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับสารานุกรมนี้ก็เห็นว่าแย่งกันอ่าน แย่งกันดู สนใจจริงๆ แต่ไม่ใช่ว่าแย่งกันอย่างป่าเถื่อน แย่งกันอย่างดี ทะนุถนอม คล้าย รู้ว่าหนังสือนี้ถ้าแย่งกันอย่างไม่ทะนุถนอม ก็ฉีกขาดเสียประโยชน์ไป หมายความว่าจะบอกได้ว่าโครงการนี้ได้ผลดี ได้ผลดีขึ้นมาด้วยการร่วมมือกันทำ ท่านทั้งหลายผู้ที่เป็นวิทยากรคือเขียน และผู้ที่ขัดเกลา ผู้ที่เรียง ผู้ที่ทำธุรการ ผู้ที่สนับสนุนในทางทรัพย์ เพื่อที่จะให้บรรลุผลได้ก็ต้องเอ่ยถึงผู้ที่พยายามหาทุนคือพวกกรรมการหาทุนซึ่งทำงานอย่างเข็มแข็ง พยายามที่จะให้คนเข้าใจและยินดีบริจาค ฉะนั้นก็สรุปได้ว่างานในวันนี้ก็คงได้ผลดี เพราะว่าได้มาพบกัน แล้วก็ได้เห็นความสำคัญของโครงการ

พระราชดำรัสในงานวันโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ณ โรงแรมไฮแอท เซ็นทรัลพลาซ่า
วันเสาร์ ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๖



ที่มา: http://kanchanapisek.or.th/